พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้เข้าร่วมในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยตัดสินใจเป็นสมาชิกคณะราษฎรเพียง 1 วันเท่านั้นก่อนการปฏิวัติ จากการชักชวนของ หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เพื่อนนายทหารเรือด้วยกัน ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือในคณะราษฎร หลังจากที่ได้ทาบทามมาก่อนหน้านั้น โดยมาชักชวนถึงที่บ้านพักในตรอกวัดสามพระยาวรวิหาร บางขุนพรหม ในเวลาเย็น จึงตัดสินใจเข้าร่วมด้วยในขณะนั้น โดยในเวลาประมาณ 03.00 น. ของเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันปฏิวัติ พล.ร.ต.ถวัลย์ ขณะนั้นอยู่ในยศ เรือโท (ร.ท.) ได้ออกจากบ้านพักมาคนเดียวด้วยรถลาก มาที่ท่าราชวรดิฐ ซึ่งเป็นจุดนัดพบตามแผน ซึ่ง พล.ร.ต.ถวัลย์ ได้พกปืนพกขนาด 6.35 มิลลิเมตร (6.35 ม.ม.) พร้อมด้วยกระสุนมาด้วย
จากนั้นเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว ได้เริ่มบทบาททางการเมืองโดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 (ส.ส.ประเภทที่ 2) และได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี ครั้งแรกในสมัยรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อปี พ.ศ. 2476 และเมื่อปี พ.ศ. 2477 ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงสละราชสมบัติ ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล ให้เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปกราบบังคมทูลเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ที่ประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 ในราชวงศ์จักรีสืบไป ในปี พ.ศ. 2479 - พ.ศ. 2481 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลของ นายปรีดี พนมยงค์
พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งนั้น ประเทศอยู่ในภาวะหลังสงคราม เศรษฐกิจของประเทศกำลังทรุดหนัก พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจด้วยการจัดตั้ง องค์การสรรพาหาร ขึ้น โดยการซื้อของแพงมาขายถูกให้แก่ประชาชนเพื่อตรึงราคาสินค้าไม่ให้สูง และเรียกเก็บธนบัตรที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำเข้ามาใช้จ่ายจากประชาชนด้วยการออกธนบัตรใหม่ให้แลก รวมทั้งนำเอาทองคำซึ่งเป็นทุนสำรองของชาติออกขายแก่ประชาชน และจากเหตุการณ์นี้ทางรัฐบาลและรวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในการส่งข้าวออกขายนอกประเทศ โดยนำข้าวชั้นดีไปขายเหลือแต่เพียงข้าวหักสำหรับเลี้ยงสัตว์ไว้ให้ประชาชนบริโภคเองในประเทศ รวมถึงการคอร์รัปชั่นประการต่าง ๆ ในรัฐบาล ทำให้ฝ่ายค้านโดย พรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการอภิปรายครั้งแรกด้วยที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุ แม้จะได้รับเสียงส่วนมากไว้วางใจ แต่กระแสกดดันที่รุนแรงทำให้ท่านต้องลาออกในวันรุ่งขึ้น และได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อทันที [4]
ซึ่งสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้น มีความแตกแยกกันเองในหมู่นักการเมือง และประชาชนค่อนข้างมากหลัง เหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 และเหตุอื่น ๆ บทบาทของท่านในช่วงนี้ คือ การเจรจาทำความเข้าใจกันของทั้งสองฝ่าย เพื่อประสานรอยร้าว จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "นายกฯลิ้นทอง" แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้นจนนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490[5]
หลังรัฐประหารแล้ว ท่านต้องเดินทางออกนอกประเทศไปลี้ภัยอยู่ที่ฮ่องกงระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับประเทศไทย และใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบต่อมา พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2531 ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมอายุได้ 87 ปี นับเป็นทหารเรือคนแรก ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น