วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

นายกรัฐมนตรีของไทย

คนที่ 1 พระยามโนปกรณนิติธาดา


มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณนิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ชื่อเดิมว่า "ก้อน หุตะสิงห์" เกิดวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 ที่จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของนายฮวด กับนางแก้ว หุตะสิงห์ ท่านถึงอสัญกรรม ณ ปีนัง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 รวมอายุได้ 64 ปีเศษ
พระยามโนปกรณนิติธาดา เป็นผู้ที่จบการศึกษาวิชากฎหมายระดับเนติบัณฑิต จากประเทศอังกฤษ เป็นข้าราชการตุลาการผู้ที่ได้ชื่อว่ามือสะอาด ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยมาตลอดชีวิตการรับราชการ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้รับเลือกจากคณะราษฎรโดยนายปรีดี พนมยงค์ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มีด้วยกันทั้งหมด 70 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง และได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ด้วยหวังว่าท่านจะเป็นคนกลางประสานความเข้าใจระหว่างกลุ่มผู้นิยมการปกครองแบบเก่า และกลุ่มผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ถูกทาบทามตั้งแต่วันแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ทว่ายังไม่ตอบรับเลยในทันที เพียงแต่ขอเวลาไปตัดสินใจหนึ่งคืน และได้ให้คำตอบรับในเช้าวันถัดมา[1]
หลังจากมีกรณีเรื่อง "สมุดปกเหลือง" เค้าโครงเศรษฐกิจที่ร่างโดยนายปรีดี ขึ้นถวายให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัย ซึ่งพระองค์ท่านไม่เห็นชอบด้วย ก่อให้เกิดความแตกแยกกันในหมู่สมาชิกคณะราษฎร ข้าราชการ ขุนนาง และบุคคลในสภา ฯ พระยามโนปกรณ ฯ เองก็ไม่เห็นชอบด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกคณะราษฎรกลุ่มทหารที่นำโดย พระยาทรงสุรเดช ท่านจึงได้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีปิดสภา พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา รวมทั้งได้เนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ ให้กลับไปยังประเทศฝรั่งเศส และออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นฉบับแรกด้วย ซึ่งเรียกกันว่าท่านกระทำรัฐประหารด้วยการใช้ "ปากกาด้ามเดียว" ท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มคณะราษฎรที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์
เหตุการณ์ความขัดแย้งเหล่านี้ ได้บานปลายนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 ที่ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรได้รัฐประหารคณะรัฐบาลของท่าน และเนรเทศท่านไปยังปีนังด้วยรถไฟ พร้อมกับเรียกตัวนายปรีดีกลับมาจากฝรั่งเศส ซึ่งพระยามโนปกรณนิติธาดาก็ได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ที่ปีนัง ตราบจนถึงแก่อสัญกรรม

คนที่ 2 พระยาพหลพลพยุหเสนา

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 2 เดิมชื่อว่า "พจน์ พหลโยธิน" เกิดวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2430 เวลา 03.30 น. ณ บ้านหน้าวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน)[3] กับท่านผู้หญิงจับ พหลโยธิน สมรสกับท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี 5 สมัย รวมระยะเวลา 5 ปี 5 เดือน 21 วัน ยังได้รับสมญานามว่า เชษฐบุรุษ ด้วย ถึงแก่อสัญกรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 รวมอายุ ได้ 59 ปี
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหนึ่งในคณะราษฎรฝ่ายทหารชั้นผู้ใหญ่ เป็น 1 ใน 4 ทหารเสือ (อีก 3 คน ได้แก่ พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พระยาทรงสุรเดช และพระประศาสน์พิทยายุทธ) ในระหว่างการประชุมวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น พระยาพหล ฯ ได้เคยมีดำริถึงเรื่องนี้มาก่อนและเปรยว่า ทำอย่างไรให้อำนาจการปกครองอยู่ในมือของคนทั่วไปจริง ๆ ไม่ใช่อยู่ในมือของชนชั้นปกครองแค่ไม่กี่คน และเมื่อคณะราษฎรทั้งหมดยกให้ท่านเป็นหัวหน้า ท่านก็รับ[1]
ในเช้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้สั่งเสียไว้กับภรรยา (ท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา) ว่า หากทำการมิสำเร็จและต้องประสบภัยถึงแก่ชีวิตแล้ว ขอให้คุณหญิงจงเป็นพยานแก่คนทั้งหลายว่า "การที่คิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินครั้งนี้ มิได้หมายจะช่วงชิงเอาราชบัลลังก์ หรือคิดจะล้มราชบัลลังก์แต่อย่างใดเลย ความมุ่งหมายจำกัดอยู่แต่เพียงว่า ให้องค์กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้มีสภาการปกครองแผ่นดิน เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้น้อยและประชาราษฎรได้แสดงความคิดเห็นในราชการบ้านเมืองได้บ้าง"[1] และฝากให้เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีด้วย ก่อนออกจากบ้านไปพร้อมกับพระประศาสน์พิทยายุทธที่ขับรถมารับ มุ่งหน้าไปยังตำบลนัดพบ คือ บริเวณทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ์ ในเวลา 05.00 น. เพื่อสมทบกับกลุ่มของพระยาทรงสุรเดช พร้อมกับเหน็บปืนพกค้อลท์รีวอลเวอร์ที่เอว เป็นอาวุธข้างกาย ก่อนที่จะเดินทางไปที่กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.1 รอ.) ที่แยกเกียกกาย เพื่อลวงเอากำลังทหารและยุทโธปกรณ์มาใช้ในการปฏิวัติตามแผนของพระยาทรงสุรเดช ซึ่งที่คลังแสงอาวุธภายในกรมทหารม้าฯ นี้ พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้ใช้คีมตัดเหล็กที่ทางพระประศาสน์พิทยายุทธได้จัดหาไว้ก่อนหน้านั้น ตัดโซ่ที่คล้องประตูคลังแสง เพื่องัดเอากระสุนและปืนออกมา[5]
จากนั้น ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อทหารทุกหน่วยมาพร้อมแล้ว พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงได้แสดงตนเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และอ่านประกาศฉบับแรกของคณะราษฏร ที่เขียนด้วยภาษาเยอรมัน แต่ได้อ่านออกมาเป็นภาษาไทย[6] ซึ่งมีใจความว่า[7]

การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง ใครจะออกเสียงหรือความเห็นคัดค้านอย่างใดมิได้ทั้งสิ้น การปกครองแบบนี้ได้ปล่อยให้อาณาประชาราษฎรเผชิญโชคชะตาทางเศรษฐกิจและการภาษีต่าง ๆไปตามลำพัง ไม่ได้คิดหาทางแก้ไขบูรณะบ้านเมืองให้ดีขึ้น จะปล่อยให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวายและเป็นไปตามยถากรรมนั้นเป็นการไม่พึงบังควรยิ่ง เราจึงต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้พระมหากษัตริย์ทรงสถิตอยู่ใต้กฎหมาย

เมื่อท่านต้องรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ 2 ของประเทศ แทนที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่ถูกรัฐประหารไปเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 การทำหน้าที่ของท่านไม่ราบรื่น เนื่องด้วยประสบกับปัญหาหลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งการสงคราม ที่กำลังจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทำให้ท่านต้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันถึง 3 สมัย จากนั้นก็ลงจากตำแหน่ง แล้วเข้ามาเป็นรัฐมนตรีอีก 2 กระทรวง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2477 รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี พ.ศ. 2478 จากนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง ท่านก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นสมัยที่ 4 โดยนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ หลังจากนั้น ก่อนจะเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 5 วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2480 และลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 และยุติบทบาททางการเมืองไป ซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมา ก็คือ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) นายทหารรุ่นน้องที่ท่านรักและไว้ใจนั่นเอง
พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้รับพระราชทานวังปารุสกวัน จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นที่พำนัก แม้ถึงตอนที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ซึ่งท่านได้ใช้ที่นี่เป็นที่พำนักพักอาศัยตราบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต[1]
พระยาพหลพลพยุหเสนา มีคติประจำใจว่า "ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชาย ต้องไว้ชื่อ" ชีวิตของท่านไม่มีทรัพย์สินเงินทองมากมายเลยแม้จะผ่านตำแหน่งสำคัญ ๆ มามากก็ตาม[1] ใน พ.ศ. 2487 ระหว่างปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ในรัฐบาลพันตรีควง อภัยวงศ์ ที่ขึ้นมาแทนที่รัฐบาลของจอมพลแปลก ที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านั้น เมื่อรัฐบาลมีมติปลด จอมพลแปลก ออกจากตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ (ปัจจุบันคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ก็ได้ขอให้ท่านรับตำแหน่งนี้เอาไว้ ทั้งที่ท่านประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกแล้ว ประกอบกับร่างกายที่เป็นอัมพาตจากอาการเส้นโลหิตในสมองแตก แต่ท่านก็รับไว้ในที่สุด แม้จะปรารภว่าจะให้เป็นท่านเป็นแม่ทัพกล้วยปิ้งหรืออย่างไร อีกทั้งระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตรีควง ในช่วงนี้ เป็นที่หวาดวิตกว่า อาจมีรัฐประหาร ด้วยกำลังทหารจากจังหวัดลพบุรี ที่ยังให้การสนับสนุนจอมพลแปลกอยู่ เพื่อยุติภาวะอันนี้ พันตรีควง จึงตัดสินใจเดินทางไปพบจอมพลแปลกด้วยตัวเองถึงที่บ้านพักส่วนตัว ภายในศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี หลังจากเจรจากันแล้ว จอมพลแปลกได้ยืนยันว่า ไม่มีความคิดเช่นนั้นเลย อีกทั้งยังมีความรักใคร่ พันตรีควง เสมือนเป็นน้องชายตนเอง ในการครั้งนี้ ด้วยความเป็นห่วงพันตรีควง พระยาพหลพลพยุหเสนาได้โทรศัพท์ไปสอบถามถึงบ้านพักของพันตรีควงถึง 2 ครั้ง เมื่อไม่ได้ความ ก็เดินทางออกจากวังปารุสกวันไปที่หลักสี่เพื่อรอคอยการกลับมาของพันตรีควงด้วยตนเอง ทั้งที่สภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย [2]
พระยาพหลพลพยุหเสนา ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ด้วยวัย 60 ปี ด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก ซึ่งงานศพของท่านทางครอบครัวไม่มีเงินเพียงพอที่จะจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ จนทางรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ต้องเข้ามารับอุปถัมภ์ จัดการงานพระราชทานเพลิงให้ท่านแทน

คนที่ 3 แปลก พิบูลสงคราม


จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ[1] แปลก พิบูลสงคราม (14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 – 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "จอมพล ป.พิบูลสงคราม" เป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด คือ 14 ปี 11 เดือน 18 วัน รวม 8 สมัย มีนโยบายที่สำคัญคือ การมุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทย ให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ มีการปลุกระดมให้คนไทยรู้สึกรักชาติ โดยออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย "รัฐนิยม" หลายอย่าง ซึ่งบางอย่างได้ประกาศเป็นกฎหมายในภายหลัง หลายอย่างกลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ เช่น การรำวง, ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" และเป็นผู้เปลี่ยน "เพลงชาติไทย" มาเป็นเพลงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันรวมถึงเปลี่ยนชื่อของ นนท์ บางเขนด้วย

คำขวัญที่รู้จักกันดีของนายกรัฐมนตรีผู้นี้คือ "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" หรือ "ท่านผู้นำไปไหนฉันไปด้วย" และ "ไทยอยู่คู่ฟ้า"
ในสายตานักวิชาการประวัติศาสตร์การเมืองไทยส่วนหนึ่งเห็นว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นเผด็จการทางทหารที่มีบทบาททางการเมืองสูง และให้ความสนใจกับความคิดที่ส่อไปในทางเชื้อชาตินิยมและการปลุกระดมความคลั่งชาติในบางครั้ง
คณะราษฎร[แก้]
จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีชื่อจริงว่า "แปลก" เนื่องจากเมื่อแรกเกิดบิดามารดาเห็นว่าหูทั้งสองข้างอยู่ต่ำกว่านัยน์ตา ผิดไปจากบุคคลธรรมดา จึงให้ชื่อว่า แปลก เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญ ได้ใช้ชื่อว่า ป. ซึ่งเป็นตัวอักษรย่อเฉกเช่นชื่อของบุคคลสำคัญหลายคนทางประเทศแถบตะวันตก[3]
จอมพล ป. เป็นหนึ่งในคณะนายทหารผู้ร่วมก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยเป็นนายทหารปืนใหญ่ รุ่นน้องของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา 2 ปี ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก และเป็นสมาชิกคณะราษฎรยุคก่อตั้งซึ่งมีทั้งหมด 7 คน ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส โดยถือเป็นผู้นำของคณะทหารบกยศชั้นผู้น้อย ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จอมพล ป. เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเป็นแกนนำในการรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และเป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม ในการปราบกบฏบวรเดช เมื่อปี พ.ศ. 2476 จนได้รับความไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
ซึ่งก่อนหน้านั้นระหว่างมีการประชุมกันครั้งแรกของคณะราษฎรที่ยาวนานติดต่อกัน 4 คืน 5 วัน ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อต้นปี พ.ศ. 2469 จอมพล ป. ที่สมาชิกคณะราษฎรคนอื่น ๆ ได้เรียกว่า "กัปตัน" และยกให้เป็นหัวหน้ากลุ่ม[4] ได้เสนอว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วให้สำเร็จโทษพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ แต่ทางนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน ได้คัดค้าน โดยยกเหตุผลว่าหากกระทำเช่นนั้นแล้ว จะทำให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศเหมือนเช่นการปฏิวัติรัสเซีย[5]
อีกทั้งในการประชุมครั้งสุดท้ายในประเทศไทย ก่อนที่จะลงมือจริงไม่กี่วัน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นนายทหารบกชั้นผู้ใหญ่ ผู้วางแผนการปฏิวัติทั้งหมด ได้เสนอแผนการออกมา ทางจอมพล ป. ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งถือเป็นนายทหารชั้นผู้น้อยกว่า ได้สอบถามว่า หากแผนการดังกล่าวไม่สำเร็จ จะมีแผนสำรองประการใดหรือไม่ แต่ทางฝ่าย พ.อ.พระยาทรงสุรเดชไม่ตอบ แต่ได้ย้อนถามกลับไปว่า แล้วทางจอมพล ป. มีแผนอะไร และไม่ยอมตอบว่าตนมีแผนสำรองอะไร ซึ่งทั้งคู่ได้มีปากเสียงกัน หลังจากการประชุมจบแล้ว จอมพล ป. ได้ปรารภกับนายทวี บุณยเกตุ สมาชิกคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนที่เข้าประชุมด้วยกันว่า ตนเองกับ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ไม่อาจอยู่ร่วมโลกกันได้ ซึ่งในส่วนนี้ได้พัฒนากลายมาเป็นความขัดแย้งกันระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับพระยาทรงสุรเดชในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีกบฏพระยาทรงสุรเดช ในปี พ.ศ. 2482[5]
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก[แก้]
นับแต่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2481 ได้มีนโยบายในการสร้างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลัทธิชาตินิยม เช่น ออกกฎหมายคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ มีการสงวนอาชีพบางอย่างไว้เฉพาะคนไทย และปลูกฝังให้ประชาชนนิยมใช้สินค้าไทย ด้วยคำขวัญว่า "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" รัฐบาลจอมพล ป. ได้เปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่าง เพื่อให้สอดคล้องกับการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และให้เกิดความทันสมัย เช่น ประกาศให้ข้าราชการเลิกนุ่งผ้าม่วง เลิกสวมเสื้อราชปะแตน และให้นุ่งกางเกงขายาวแทน มีการยกเลิกบรรดาศักด์ และยศข้าราชการพลเรือน มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเริ่มเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2484 ทำให้ ปี พ.ศ. 2483 มีเพียง 9 เดือน
มีการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมใหม่ โดยจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 เพื่อจัดระเบียบการดำเนินชีวิตของคนไทยให้เป็นแบบอารยประเทศ โดยประกาศรัฐนิยมฉบับต่างๆ อาทิ สั่งห้ามประชาชนกินหมากโดยเด็ดขาด ให้ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงแทน ให้สวมหมวก สวมรองเท้า ไม่ส่งเสริมศิลปะและดนตรีไทยเดิมแต่ส่งเสริมดนตรีสากล ฯลฯ โดยมีคำขวัญในสมัยนั้นว่า "มาลานำไทยสู่มหาอำนาจ" หากผู้หญิงคนใดไม่ใส่หมวกจะถูกตำรวจจับและปรับ และยังวางระเบียบการใช้คำแทนชื่อเป็นมาตรฐาน เช่น ฉัน, ท่าน, เรา มีคำสั่งให้ข้าราชการกล่าวคำว่า "สวัสดี" ในโอกาสแรกที่พบกัน และมีการตัดตัวอักษรที่ออกเสียงซ้ำกันจึงมีการเปลี่ยนแปลงการสะกดคำมากมาย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ เขียนเป็น กระซวงสึกสาธิการ เป็นต้น เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลุดจากอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ รัฐนิยมก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย อักขรวิธีภาษาไทยได้กลับไปใช้แบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมที่สังคมไทยเริ่มรับมาจากตะวันตกหลายรูปแบบในขณะนั้น ยังคงอยู่ต่อมาแม้ว่าจะไม่มีการบังคับใช้ตาม "รัฐนิยม" อีกต่อไป และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยสมัยใหม่ไปแล้ว[6]
ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่2 เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จากปัญหาเรื่องการใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ระหว่างไทยกับอินโดจีน ซึ่งอยู่ในครอบครองฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยฝรั่งเศสไม่ยอมตกลงเรื่องการใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองนครพนม การรบระหว่างฝรั่งเศสกับไทยจึงเริ่มขึ้น ฝรั่งเศสโจมตีไทยทางอรัญประเทศ รัฐบาล จอมพล ป. ส่งทหารไทยเข้าไปในอินโดจีนทางด้านเขมร แต่ในที่สุดญี่ปุ่นเสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ย จนมีการส่งผู้แทนไปลงนามอนุสัญญาโตเกียว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ในครั้งนั้นไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน รวมทั้งทางใต้ตรงข้ามปากเซ คือ แขวงจัมปาศักดิ์ และดินแดนในเขมรที่เสียให้ฝรั่งเศสไปเมื่อปี พ.ศ. 2450 กลับคืนมาด้วย และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงชัยชนะของไทยต่อฝรั่งเศส และ 1 ปีต่อมา จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485
หลังจากกรณีพิพาทอินโดจีน จอมพล.ป ได้ประกาศให้ประเทศไทยดำรงสถานะเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจนกระทั่งญี่ปุ่นทำการยกพลขึ้นบกเพื่อขอทางผ่านไปโจมตีพม่าและมาเลเซีย จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีไทย ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการประคับประคองประเทศชาติ ให้ผ่านพ้นวิกฤตจึงประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและเข้าร่วมฝ่ายอักษะ[7] ทั้งนี้มีการบอกเล่ากันว่า ท่านขอพระราชทานยศจอมพลให้กับตนเองเพราะท่านต้องการมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ[7] ในระหว่างสงครามจอมพล.ป ได้ทำการตกลงช่วยเหลือญี่ปุ่นด้านการรบเพราะหวังว่าจะได้ดินแดนเพิ่มเติมเข้ามาครอบครองโดยประเทศไทยได้รับจังหวัดมาลัย อีกทั้งได้ส่งกองทัพพายัพเข้าดินแดนบางส่วนของพม่าจัดตั้งสหรัฐไทยเดิมและประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น มหาอาณาจักรไทย หลังสงครามโลกสงบแล้ว ท่านต้องติดคุกระหว่างการถูกไต่สวนในฐานะอาชญากรสงครามอยู่ระยะหนึ่ง ตาม พระราชบัญญัติอาชญากรรมสงคราม ที่รัฐบาลไทยประกาศใช้เป็นกฎหมายหลังสงครามโลก (มีผู้วิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเพื่อมิให้ต้องส่งตัวผู้นำรัฐบาลและนายทหารไทยในยุคนั้นไปให้ศาลอาชญากรรมสงครามระหว่างประเทศที่สัมพันธมิตรตั้งขึ้นที่โตเกียวและเนือร์นแบร์กพิพากษาคดี แต่ให้ศาลไทยเป็นผู้พิพากษาแทน ซึ่งเป็นผลดีต่อชีวิตของอาชญากรรมสงครามเหล่านี้ที่เป็นคนไทยที่รอดพ้นจากโทษประหารชีวิตทั้งหมด) อย่างไรก็ดี ศาลไทยได้พิจารณาเห็นว่า กฎหมายย่อมไม่มีผลย้อนหลัง จึงปล่อยตัวท่านเป็นอิสระ หลังจากนั้นท่านก็ได้ประกาศยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด กลับไปใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่บ้านที่ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยปลูกผักต่าง ๆ เพื่อเลี้ยงชีพ
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งหลัง
แต่แล้วด้วยความผกผันทางการเมือง ในปี พ.ศ. 2491 ท่านก็ได้หวนกลับมาคืนสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจากการทำรัฐประหารของกลุ่มนายทหารที่นับถือท่านอยู่ ที่นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ คราวนี้ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 9 ปี ผ่านวิกฤตและเหตุการณ์กบฏจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง เช่น กบฏเสนาธิการ, กบฏวังหลวง, กบฏแมนฮัตตัน รวมทั้งยังเคยยึดอำนาจตัวเองด้วย จึงได้รับฉายาในช่วงที่ยังไม่หลุดจากอำนาจว่า "นายกฯตลอดกาล"[8]
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า "จอมพลกระดูกเหล็ก" เพราะมีชีวิตทางการเมืองอย่างเหลือเชื่อ เคยถูกลอบสังหารมาแล้วถึง 3 ครั้ง[9] แต่ก็รอดชีวิตมาได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ในปี พ.ศ. 2494 ที่ท่านถูกจี้ลงเรือศรีอยุธยา ถูกทิ้งระเบิดผ่านเตียงที่ท่านเคยนอนอยู่อย่างเฉียดฉิว ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนับร้อย จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของท่าน คือ ในเย็นวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เมื่อถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายทหารรุ่นน้องอีกคนหนึ่งที่ท่านไว้ใจและมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้ กระทำการรัฐประหาร ซึ่งท่านได้หลบหนีไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวกับผู้ติดตามเพียง 2 คน ไปอย่างหวุดหวิด โดยผ่านไปทางประเทศกัมพูชา ก่อนจะลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ณ ที่นั่น ท่านและครอบครัวได้รับการต้อนรับอย่างดี ทั้งนี้เพราะทางรัฐบาลญี่ปุ่นถือว่าเป็นท่านเป็นผู้ที่บุญคุณต่อญี่ปุ่น[9]ซึ่งเคยยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านเข้าประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วยดี ไม่ต้องมีการสู้รบยืดเยื้ออันรังแต่จะทำให้มีแต่ความสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งท่านก็ได้พำนักอยู่ที่นั่นจนตราบถึงแก่อสัญกรรม
บั้นปลายชีวิต
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ในเวลาประมาณ 20.30 น. ณ บ้านพักส่วนตัว ชานกรุงโตเกียว สิริอายุได้ 66 ปี โดยก่อนที่จะถึงแก่อสัญกรรมนั้น จอมพล ป. ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเหมือนคนปกติ ยังรับประทานอาหารมื้อเที่ยงพร้อมกับครอบครัวและคนสนิทได้เหมือนปกติ แต่ทว่าเมื่อถึงเวลาเย็นก็ได้ทรุดลงและถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหัน (ซึ่งในเรื่องนี้บางส่วนเชื่อกันว่าเป็นการลอบวางยาพิษ ทั้งนี้เนื่องจากก่อนหน้านั้น จอมพล ป. เริ่มได้สานสัมพันธ์กับ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นสมาชิกคณะราษฎรยุคก่อตั้งมาด้วยกัน แม้ครั้งหนึ่งทั้งคู่จะเคยเป็นศัตรูทางการเมืองกันมาก่อนก็ตาม แต่ทว่าในเวลานั้นทั้งคู่ต่างก็หมดอำนาจและต้องลี้ภัยในต่างประเทศด้วยกัน แม้จะอยู่คนละที่ แต่ก็มีการติดต่อกันทางจดหมาย โดยมีผู้อาสาเดินจดหมายให้ และใช้รหัสลับแทนชื่อในการติดต่อกัน ซึ่งสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กระทำการรัฐประหารจอมพล ป. ไปเมื่อปี พ.ศ. 2500 ก็ถึงแก่อสัญกรรมไปก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2506 จึงมีการคาดหมายว่า อีกไม่นานทั้งจอมพล ป. และนายปรีดีจะเดินทางกลับสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะนายปรีดีจะกลับมาแก้ข้อกล่าวหาในคดีสวรรคต และทั้งคู่จะร่วมกันรื้อฟื้นอำนาจทางการเมืองทางสายของคณะราษฎรขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่หมดบทบาทไปเลยอย่างสิ้นเชิงจากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์)[10]
ร่างจอมพล ป. ได้มีพิธีฌาปนกิจขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะมีการนำอัฐิกลับคืนสู่ประเทศไทยในวันที่ 27 มิถุนายน ปีเดียวกัน โดยมีพิธีรับอย่างสมเกียรติจากทั้ง 3 เหล่าทัพ

คนที่ 4 ควง อภัยวงศ์


พันตรี ควง อภัยวงศ์ หรือที่นิยมเรียกว่า นายควง อภัยวงศ์ (17 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2511) อดีตนายกรัฐมนตรีไทย 4 สมัย ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี พ.ศ. 2475 เคยมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงโกวิทอภัยวงศ์
พ.ต.ควง ถือเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งกระทรวงคมนาคมยุคใหม่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการคนแรก ด้วยประสบการณ์ที่เคยรับราชการจนมีตำแหน่ง เป็นถึง อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข นอกจากนี้ยังเคย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงเกษตราธิการ และกระทรวงมหาดไทย อีกด้วp
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 11 ของไทย , 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488)
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 พร้อมกับการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีคณะที่ 11 ของไทย ภายหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่ง การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นไปโดยสถานการณ์บังคับ จากการได้รับเลือกโดยสภาฯ ในขณะที่ไม่มีผู้อื่นยินดีรับตำแหน่ง เนื่องจากเกรงจะถูกรัฐประหารโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งนั้นได้ปรึกษากับอธิบดีกรมตำรวจ และตัดสินใจเดินทางไปอธิบายกับ จอมพล ป. ถึงค่ายทหารที่จังหวัดลพบุรีจนเป็นที่เข้าใจและยอมรับของจอมพล ป. ที่จะสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ พร้อมกับการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กระทรวงคมนาคม อีกด้วย
รัฐบาลของ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ได้ประกาศสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 หลังจาก ประเทศญี่ปุ่น ประกาศยอมแพ้สงครามแล้ว 2 วัน โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ ลงนามในฐานะ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระบุให้ การประกาศสงครามต่อ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ของจอมพล ป. เป็นโมฆะ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในวันรุ่งขึ้น ด้วยเหตุผล เพื่อให้เป็นไปตามประเพณีนิยมแห่งวิถีการเมือง และเปิดโอกาสให้ผู้มีความเหมาะสม ในอันที่จะยังมิตรภาพ และดำเนินการเจรจา ทำความเข้าใจอันดีกับฝ่ายพันธมิตร ได้เข้าบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป
หลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งมี นายทวี บุณยเกตุ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณ 17 วัน และผู้มารับช่วงต่อคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน หัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เดินทางกลับมารับช่วงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 และดำเนินการเจรจา กับประเทศอังกฤษ ในขณะที่ นายปรีดี พนมยงค์ ประสานขอความสนับสนุน จากประเทศจีน ให้ช่วยรับรอง จนประเทศไทย สามารถพ้นจากสถานะ ประเทศผู้แพ้สงครามในที่สุด
ในระหว่างที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ได้รับมอบหมายจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งข้าวให้อังกฤษ ซึ่งได้ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ไม่มีการคอร์รัปชั่น จนทางอังกฤษเอ่ยชมเชย
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 14 ของไทย, 31 มกราคม พ.ศ. 2489 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2489)
หลังจากเจรจากับอังกฤษจนสำเร็จ และประเทศไทยพ้นสถานะประเทศผู้แพ้สงครามแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะสมาชิกสภาชุดที่ถูกยุบนั้นได้รับเลือกตั้งมา ตั้งแต่ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 แต่เมื่อหมดวาระ 4 ปียังไม่ได้เลือกตั้งใหม่ เพราะติดช่วงสงครามโลก
การเลือกตั้งมีขึ้นวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 พ.ต.ควงได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีคณะที่ 14 ของไทย มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่หลังจากตั้งรัฐบาลได้เพียง 2 เดือน สภาฯ ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน (พ.ร.บ.ปักป้ายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ "พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว") ที่เสนอโดย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี (ผู้ใกล้ชิด นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เขตอุบลราชธานี) ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐบาล พ.ต.ควง ไม่เห็นด้วยในหลักการ เนื่องจากไม่มีมาตรการ ในการควบคุมราคา คณะรัฐมนตรีได้แถลงให้สภาทราบแล้วว่า คณะรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติตาม ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้ และเกรงจะเป็นการเดือดร้อน แก่ประชาชนทั่วไป แต่สภาฯได้ลงมติรับหลักการ ด้วยคะแนน 65 ต่อ 63 เสียง รัฐมนตรีทั้งคณะจึงได้กราบถวายบังคม ลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2489 โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการสนับสนุนจากสภา ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และต่อมาได้ควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
การก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ (6 เมษายน พ.ศ. 2489)
หลังจากพ้นวาระในสมัยนี้แล้ว พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ได้ร่วมกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมทั้งนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง เช่น นายใหญ่ ศวิตชาต, นายเลียง ไชยกาล, ดร.โชติ คุ้มพันธ์, พระยาศราภัยพิพัฒ, นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ และ นายฟอง สิทธิธรรม ก่อตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 โดย พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรคคนแรก มี ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นรองหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค และมี นายชวลิต อภัยวงศ์ ผู้มีศักดิ์เป็นน้องชาย เป็น รองเลขาธิการพรรค มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพรรคฝ่ายค้านคานอำนาจรัฐบาลของนายปรีดี ที่ขณะนั้นมีอำนาจอย่างสูง ที่เข้ามาแทนที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 19 ของไทย, 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491)
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ รับดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 พร้อมทั้งรับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ หลังการรัฐประหาร เพื่อจัดการเลือกตั้ง วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2491 นับเป็น คณะรัฐมนตรีคณะที่ 19 มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรี หลังจัดการเลือกตั้งแล้วจึงพ้นวาระไป
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 20 ของไทย, 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 - 8 เมษายน พ.ศ. 2491)
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ กลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อเป็นสมัยที่ 4 เนื่องจากผลการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงข้างมาก พ.ต.ควง ในฐานะหัวหน้าพรรค จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องอีกสมัย พร้อมทั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นับเป็น คณะรัฐมนตรีคณะที่ 20 มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นายชวลิต อภัยวงศ์ เป็น รัฐมนตรี แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 กลุ่มนายทหารชุดเดียวกับคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ก็บีบบังคับให้ลาออก และ สภาฯ มีมติให้ท่าน พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 เรียกการปฏิวัติครั้งนี้ว่า "ปฏิวัติเงียบ" หลังการรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับเข้า ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่ง
ชีวิตหลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (8 เมษายน พ.ศ. 2491 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2511)
หลังจากนั้น พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ยังคงอยู่ในแวดวงการเมือง ด้วยการนำพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯ อย่างแข็งขัน ในรัฐบาลหลายชุด ทั้ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยสุดท้าย, รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร
จนกระทั่งเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น และใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 แทน ซึ่งมีบทบัญญัติให้ยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมือง เป็นต้น ทำให้บทบาททางการเมืองของ พ.ต.ควงต้องยุติไปโดยปริยาย ซึ่งเขาได้รอคอยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้น และตั้งความหวังไว้ว่าจะลงเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง แต่ได้อสัญกรรมลงเสียก่อน
เสียชีวิต
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคระบบทางเดินหายใจขัดข้อง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2511 ขณะอายุได้ 66 ปี โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
หลังการถึงแก่อสัญกรรม พรรคประชาธิปัตย์ได้ก่อตั้ง มูลนิธิควง อภัยวงศ์ ขึ้น ตามเจตนารมณ์ และให้ชื่ออาคารที่ทำการของพรรคหลังแรกว่า "อาคารควง อภัยวงศ์" เพื่อรำลึกถึงด้วย

คนที่ 5 ทวี บุณยเกตุ


นายทวี บุณยเกตุ (10 พ.ย. 2447 - 3 พ.ย. 2514) นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 (รัฐบาลที่ 12) หนึ่งในคณะราษฎรสายพลเรือน และขบวนการเสรีไทยและเป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง พ่อสอนลูก

นายทวี บุณยเกตุ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 เวลา 13.20 น. ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง (ซึ่งขณะนั้นถือเป็นอำเภอเมือง จังหวัดตรัง) เป็นบุตรของพระยารณชัยชาญยุทธ์ (ถนอม บุณยเกตุ) กับคุณหญิงรณชัยชาญยุทธ์ (ทับทิม) โดยชื่อ ทวี มาจากการที่บิดาและมารดาสมรสกันในวันทวีธาภิเษก บุคคลที่เข้าร่วมงานเมื่อเลิกจึงมาในงานสมรสโดยไม่ได้ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า ติดเหรียญตราทวีธาภิเษกเข้าร่วมงานเลย
นายทวีสมรสกับคุณหญิงอำภาศรี บุณยเกตุ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 สิริอายุได้ 67 ปี
ในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี นายทวีได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นผู้หนึ่งที่มีแนวความคิดสอดคล้องกับนายปรีดี พนมยงค์ นอกจากนี้ยังสนิทสนมและได้รับความไว้วางใจจากนายควง อภัยวงศ์ เป็นอย่างมาก
ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทวี และนายควง ได้รับเลือกเป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2486 แต่เนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวกับจอมพล ป. ซึ่งไม่ยอมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นายทวีและนายควง จึงลาออกจากตำแหน่งทั้งคู่
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นายควง อภัยวงศ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพล ป. นายทวี บุณยเกตุได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงเวลานั้น นายทวียังได้รับมอบอำนาจเป็นผู้สั่งการแทนนายกรัฐมนตรีในหลายโอกาส ทั้งยังเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในการประกาศพระบรมราชโองการว่าสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเป็นโมฆะ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488
หลังจากนายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และอยู่ระหว่างรอ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แต่งตั้งนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และลาออกเมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 ระยะเวลาในการบริหารประเทศของนายทวีจึงสั้นเพียง 18 วัน นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด

คนที่ 6 เสนีย์ ปราโมช

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (26 พฤษภาคม พ.ศ. 2448 — 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2540) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 4 สมัย ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนเข้าสู่วงการเมือง เคยเป็นผู้พิพากษา และเคยดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอเมริกา มาก่อน
ม.ร.ว.เสนีย์ เกิดที่ค่ายทหาร ในจังหวัดนครสวรรค์ เวลาใกล้รุ่ง เป็นโอรสใน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) ชื่อ "เสนีย์" หมายถึง ทหาร หรือ เสนาบดี ได้รับพระราชทานนามนี้จากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สันนิษฐานว่า เนื่องจากเสด็จพ่อ (พระองค์เจ้าคำรบ) เป็นทหาร
ชีวิตครอบครัวสมรสกับ ท่านผู้หญิงอุศนา ปราโมช มีบุตรชาย-หญิง 3 คน บุตรชายได้แก่ ม.ล.เสรี ปราโมช (ถึงแก่กรรม) ม.ล.อัศนี ปราโมช (องคมนตรีในรัชกาลปัจจุบัน) และ บุตรีได้แก่ ม.ล.นียนา ปราโมช (ถึงแก่กรรม)
ม.ร.ว.เสนีย์ มีน้องชายที่มีชื่อเสียงคู่กันคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีความสามารถในหลายสาขา โดยสื่อมวลชนนิยมเรียก ท่านทั้งคู่ว่า "หม่อมพี่ หม่อมน้อง" นอกจากนี้ยังมีพี่สาวคือ ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี (สมรสกับ พล.ต.อ.พระพินิจชนคดี หรือ พินิจ อินทรทูต)
ม.ร.ว เสนีย์ เป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่อายุน้อยที่สุดในประศาสตร์การเมืองไทย ด้วยอายุขณะรับตำแหน่ง คือ 40 ปี
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะ หัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจาก ทวี บุณยเกตุ เพื่อเจรจากับประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับสถานะของประเทศไทย ที่เป็นฝ่ายเดียวกับสัมพันธมิตร ภายหลังการประกาศสันติภาพ โดยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ให้การประกาศสงคราม กับฝ่ายสัมพันธมิตร ของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ โดยเดินทางกลับมารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488
ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถทางภาษา ตลอดจนความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณี และระบบกฎหมายตะวันตก เจรจากับ ฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ในครั้งแรกประเทศอังกฤษ ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ประเทศไทย เป็นเมืองในอาณัติ แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช สามารถเจรจาให้ไทย หลุดพ้นจากการเป็น เมืองในอาณัติอังกฤษได้สำเร็จ โดยอังกฤษและไทยได้ลงนามใน "ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อยุติภาวะสงคราม ระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย" ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 มีใจความสำคัญคือ ไทยต้องคืนดินแดนในมลายู และรัฐฉาน ที่ได้มาระหว่างสงครามให้แก่อังกฤษ และต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพย์สินของอังกฤษ ที่ถูกไทยยึดครองระหว่างสงคราม เป็นข้าวสาร 1.5 ล้านตัน
จากนั้นไทยได้ทำการตกลงกับฝรั่งเศส มีจุดประสงค์เพื่อขอเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ โดยได้ตกลงคืนดินแดนที่ได้มาจากกรณีพิพาทอินโดจีน เมื่อปี พ.ศ. 2483 ให้กับฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสยังเรียกร้องให้ไทยมอบ พระแก้วมรกตและพระบาง ให้แก่ฝรั่งเศส โดยอ้างว่าเคยอยู่ในลาวมาก่อนถึง 200 กว่าปี ก่อนจะมาอยู่ที่กรุงเทพฯ และเมื่อลาวเป็นดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศสแล้ว ไทยก็ควรคืนพระแก้วมรกตให้แก่ลาวด้วย แต่ฝ่ายไทยได้อ้างว่า พระแก้วมรกต ค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย การที่ต้องอยู่ในลาวถึง 200 กว่าปีนั้น เป็นเพราะพระไชยเชษฐาได้นำพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ ไปไว้ที่เมืองหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์ ดังนั้นการที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต มาไว้ยังกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ ตามลำดับนั้น จึงเป็นการนำกลับคืนสู่สถานที่เดิม ทำให้ข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสข้อนี้ต้องตกไป ส่วนพระบางนั้นไทยได้ส่งคืนลาวไปตามข้อเรียกร้อง
นอกจากนี้ไทยยังได้เปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับ สหภาพโซเวียด และทำสนธิสัญญาทางไมตรีกับประเทศจีน เพื่อไม่ให้คัดค้านการเข้าเป็นสมาชิก องค์การสหประชาชาติของไทย และในที่สุดไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2489 เป็นสมาชิกลำดับที่ 55
รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ประกาศ พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เพื่อลงโทษผู้นำ หรือหัวหน้ารัฐบาล ที่ร่วมก่อให้เกิดสงคราม ที่ทำให้ประเทศเป็นฝ่ายปราชัย ซึ่งหากรัฐบาลไม่ตราพระราชบัญญัตินี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรก็จะนำผู้ต้องหา ไปดำเนินคดีในต่างประเทศในฐานะ อาชญากรสงคราม
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 ครั้ง โดยในครั้งสุดท้ายได้เกิด เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ตำรวจและกองกำลังติดอาวุธ เข้าปิดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีนักศึกษา และประชาชนหลายพันคนชุมนุมประท้วง การกลับประเทศไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ถูกประชาชนขับไล่ ออกจากประเทศไปเมื่อ 3 ปีก่อน ในวันเดียวกัน พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้จัดตั้ง คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เข้ายึดอำนาจจาก รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์
หลังจากพ้นตำแหน่งแล้ว ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้ลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และวางมือทางการเมือง ใช้ชีวิตสงบเงียบตลอดมา และได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 สิริอายุได้ 92 ปี