พ.ศ. 2537 พันตำรวจโท ทักษิณ เข้าสู่วงการเมือง สังกัดพรรคพลังธรรม โดยการชักนำของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ต่อมาจึงก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ใน พ.ศ. 2541 และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 ซึ่งพรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก สำหรับงานการเมือง พันตำรวจโท ทักษิณ ใช้หนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ก่อนกำหนดเดิม[9] และดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดความยากจนในชนบท โดยสามารถลดความยากจนได้ถึงครึ่งหนึ่งภายในสี่ปี[10][11] ริเริ่มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นครั้งแรกของประเทศ คือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค[12] ตลอดจนการกวาดล้างยาเสพติด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง[13] พันตำรวจโท ทักษิณ เริ่มดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ รวมทั้งถนน การขนส่งมวลชน และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หนี้สาธารณะลดลงจากร้อยละ 57 ของจีดีพี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 เหลือร้อยละ 41 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549[14][15] รวมทั้งระดับการฉ้อราษฎร์บังหลวงลดลง โดยดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เพิ่มขึ้นจาก 3.2 เป็น 3.8 ระหว่าง พ.ศ. 2544 และ 2549[16] พันตำรวจโท ทักษิณ ดำรงตำแหน่งจนครบวาระสี่ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งดำรงตำแหน่งจนครบวาระเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ และจากผลการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 ทำให้พันตำรวจโท ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
และวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะทหารซึ่งภายหลังเรียกตนเองว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ ขณะที่พันตำรวจโท ทักษิณอยู่ต่างประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น