วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

นายกรัฐมนตรีของไทย

คนที่ 1 พระยามโนปกรณนิติธาดา


มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณนิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ชื่อเดิมว่า "ก้อน หุตะสิงห์" เกิดวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 ที่จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของนายฮวด กับนางแก้ว หุตะสิงห์ ท่านถึงอสัญกรรม ณ ปีนัง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 รวมอายุได้ 64 ปีเศษ
พระยามโนปกรณนิติธาดา เป็นผู้ที่จบการศึกษาวิชากฎหมายระดับเนติบัณฑิต จากประเทศอังกฤษ เป็นข้าราชการตุลาการผู้ที่ได้ชื่อว่ามือสะอาด ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยมาตลอดชีวิตการรับราชการ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้รับเลือกจากคณะราษฎรโดยนายปรีดี พนมยงค์ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มีด้วยกันทั้งหมด 70 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง และได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ด้วยหวังว่าท่านจะเป็นคนกลางประสานความเข้าใจระหว่างกลุ่มผู้นิยมการปกครองแบบเก่า และกลุ่มผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ถูกทาบทามตั้งแต่วันแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ทว่ายังไม่ตอบรับเลยในทันที เพียงแต่ขอเวลาไปตัดสินใจหนึ่งคืน และได้ให้คำตอบรับในเช้าวันถัดมา[1]
หลังจากมีกรณีเรื่อง "สมุดปกเหลือง" เค้าโครงเศรษฐกิจที่ร่างโดยนายปรีดี ขึ้นถวายให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัย ซึ่งพระองค์ท่านไม่เห็นชอบด้วย ก่อให้เกิดความแตกแยกกันในหมู่สมาชิกคณะราษฎร ข้าราชการ ขุนนาง และบุคคลในสภา ฯ พระยามโนปกรณ ฯ เองก็ไม่เห็นชอบด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกคณะราษฎรกลุ่มทหารที่นำโดย พระยาทรงสุรเดช ท่านจึงได้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีปิดสภา พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา รวมทั้งได้เนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ ให้กลับไปยังประเทศฝรั่งเศส และออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นฉบับแรกด้วย ซึ่งเรียกกันว่าท่านกระทำรัฐประหารด้วยการใช้ "ปากกาด้ามเดียว" ท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มคณะราษฎรที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์
เหตุการณ์ความขัดแย้งเหล่านี้ ได้บานปลายนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 ที่ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรได้รัฐประหารคณะรัฐบาลของท่าน และเนรเทศท่านไปยังปีนังด้วยรถไฟ พร้อมกับเรียกตัวนายปรีดีกลับมาจากฝรั่งเศส ซึ่งพระยามโนปกรณนิติธาดาก็ได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ที่ปีนัง ตราบจนถึงแก่อสัญกรรม

คนที่ 2 พระยาพหลพลพยุหเสนา

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 2 เดิมชื่อว่า "พจน์ พหลโยธิน" เกิดวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2430 เวลา 03.30 น. ณ บ้านหน้าวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน)[3] กับท่านผู้หญิงจับ พหลโยธิน สมรสกับท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี 5 สมัย รวมระยะเวลา 5 ปี 5 เดือน 21 วัน ยังได้รับสมญานามว่า เชษฐบุรุษ ด้วย ถึงแก่อสัญกรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 รวมอายุ ได้ 59 ปี
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหนึ่งในคณะราษฎรฝ่ายทหารชั้นผู้ใหญ่ เป็น 1 ใน 4 ทหารเสือ (อีก 3 คน ได้แก่ พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พระยาทรงสุรเดช และพระประศาสน์พิทยายุทธ) ในระหว่างการประชุมวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น พระยาพหล ฯ ได้เคยมีดำริถึงเรื่องนี้มาก่อนและเปรยว่า ทำอย่างไรให้อำนาจการปกครองอยู่ในมือของคนทั่วไปจริง ๆ ไม่ใช่อยู่ในมือของชนชั้นปกครองแค่ไม่กี่คน และเมื่อคณะราษฎรทั้งหมดยกให้ท่านเป็นหัวหน้า ท่านก็รับ[1]
ในเช้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้สั่งเสียไว้กับภรรยา (ท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา) ว่า หากทำการมิสำเร็จและต้องประสบภัยถึงแก่ชีวิตแล้ว ขอให้คุณหญิงจงเป็นพยานแก่คนทั้งหลายว่า "การที่คิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินครั้งนี้ มิได้หมายจะช่วงชิงเอาราชบัลลังก์ หรือคิดจะล้มราชบัลลังก์แต่อย่างใดเลย ความมุ่งหมายจำกัดอยู่แต่เพียงว่า ให้องค์กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้มีสภาการปกครองแผ่นดิน เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้น้อยและประชาราษฎรได้แสดงความคิดเห็นในราชการบ้านเมืองได้บ้าง"[1] และฝากให้เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีด้วย ก่อนออกจากบ้านไปพร้อมกับพระประศาสน์พิทยายุทธที่ขับรถมารับ มุ่งหน้าไปยังตำบลนัดพบ คือ บริเวณทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ์ ในเวลา 05.00 น. เพื่อสมทบกับกลุ่มของพระยาทรงสุรเดช พร้อมกับเหน็บปืนพกค้อลท์รีวอลเวอร์ที่เอว เป็นอาวุธข้างกาย ก่อนที่จะเดินทางไปที่กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.1 รอ.) ที่แยกเกียกกาย เพื่อลวงเอากำลังทหารและยุทโธปกรณ์มาใช้ในการปฏิวัติตามแผนของพระยาทรงสุรเดช ซึ่งที่คลังแสงอาวุธภายในกรมทหารม้าฯ นี้ พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้ใช้คีมตัดเหล็กที่ทางพระประศาสน์พิทยายุทธได้จัดหาไว้ก่อนหน้านั้น ตัดโซ่ที่คล้องประตูคลังแสง เพื่องัดเอากระสุนและปืนออกมา[5]
จากนั้น ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อทหารทุกหน่วยมาพร้อมแล้ว พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงได้แสดงตนเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และอ่านประกาศฉบับแรกของคณะราษฏร ที่เขียนด้วยภาษาเยอรมัน แต่ได้อ่านออกมาเป็นภาษาไทย[6] ซึ่งมีใจความว่า[7]

การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง ใครจะออกเสียงหรือความเห็นคัดค้านอย่างใดมิได้ทั้งสิ้น การปกครองแบบนี้ได้ปล่อยให้อาณาประชาราษฎรเผชิญโชคชะตาทางเศรษฐกิจและการภาษีต่าง ๆไปตามลำพัง ไม่ได้คิดหาทางแก้ไขบูรณะบ้านเมืองให้ดีขึ้น จะปล่อยให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวายและเป็นไปตามยถากรรมนั้นเป็นการไม่พึงบังควรยิ่ง เราจึงต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้พระมหากษัตริย์ทรงสถิตอยู่ใต้กฎหมาย

เมื่อท่านต้องรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ 2 ของประเทศ แทนที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่ถูกรัฐประหารไปเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 การทำหน้าที่ของท่านไม่ราบรื่น เนื่องด้วยประสบกับปัญหาหลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งการสงคราม ที่กำลังจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทำให้ท่านต้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันถึง 3 สมัย จากนั้นก็ลงจากตำแหน่ง แล้วเข้ามาเป็นรัฐมนตรีอีก 2 กระทรวง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2477 รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี พ.ศ. 2478 จากนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง ท่านก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นสมัยที่ 4 โดยนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ หลังจากนั้น ก่อนจะเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 5 วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2480 และลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 และยุติบทบาททางการเมืองไป ซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมา ก็คือ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) นายทหารรุ่นน้องที่ท่านรักและไว้ใจนั่นเอง
พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้รับพระราชทานวังปารุสกวัน จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นที่พำนัก แม้ถึงตอนที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ซึ่งท่านได้ใช้ที่นี่เป็นที่พำนักพักอาศัยตราบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต[1]
พระยาพหลพลพยุหเสนา มีคติประจำใจว่า "ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชาย ต้องไว้ชื่อ" ชีวิตของท่านไม่มีทรัพย์สินเงินทองมากมายเลยแม้จะผ่านตำแหน่งสำคัญ ๆ มามากก็ตาม[1] ใน พ.ศ. 2487 ระหว่างปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ในรัฐบาลพันตรีควง อภัยวงศ์ ที่ขึ้นมาแทนที่รัฐบาลของจอมพลแปลก ที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านั้น เมื่อรัฐบาลมีมติปลด จอมพลแปลก ออกจากตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ (ปัจจุบันคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ก็ได้ขอให้ท่านรับตำแหน่งนี้เอาไว้ ทั้งที่ท่านประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกแล้ว ประกอบกับร่างกายที่เป็นอัมพาตจากอาการเส้นโลหิตในสมองแตก แต่ท่านก็รับไว้ในที่สุด แม้จะปรารภว่าจะให้เป็นท่านเป็นแม่ทัพกล้วยปิ้งหรืออย่างไร อีกทั้งระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตรีควง ในช่วงนี้ เป็นที่หวาดวิตกว่า อาจมีรัฐประหาร ด้วยกำลังทหารจากจังหวัดลพบุรี ที่ยังให้การสนับสนุนจอมพลแปลกอยู่ เพื่อยุติภาวะอันนี้ พันตรีควง จึงตัดสินใจเดินทางไปพบจอมพลแปลกด้วยตัวเองถึงที่บ้านพักส่วนตัว ภายในศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี หลังจากเจรจากันแล้ว จอมพลแปลกได้ยืนยันว่า ไม่มีความคิดเช่นนั้นเลย อีกทั้งยังมีความรักใคร่ พันตรีควง เสมือนเป็นน้องชายตนเอง ในการครั้งนี้ ด้วยความเป็นห่วงพันตรีควง พระยาพหลพลพยุหเสนาได้โทรศัพท์ไปสอบถามถึงบ้านพักของพันตรีควงถึง 2 ครั้ง เมื่อไม่ได้ความ ก็เดินทางออกจากวังปารุสกวันไปที่หลักสี่เพื่อรอคอยการกลับมาของพันตรีควงด้วยตนเอง ทั้งที่สภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย [2]
พระยาพหลพลพยุหเสนา ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ด้วยวัย 60 ปี ด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก ซึ่งงานศพของท่านทางครอบครัวไม่มีเงินเพียงพอที่จะจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ จนทางรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ต้องเข้ามารับอุปถัมภ์ จัดการงานพระราชทานเพลิงให้ท่านแทน

คนที่ 3 แปลก พิบูลสงคราม


จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ[1] แปลก พิบูลสงคราม (14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 – 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "จอมพล ป.พิบูลสงคราม" เป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด คือ 14 ปี 11 เดือน 18 วัน รวม 8 สมัย มีนโยบายที่สำคัญคือ การมุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทย ให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ มีการปลุกระดมให้คนไทยรู้สึกรักชาติ โดยออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย "รัฐนิยม" หลายอย่าง ซึ่งบางอย่างได้ประกาศเป็นกฎหมายในภายหลัง หลายอย่างกลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ เช่น การรำวง, ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" และเป็นผู้เปลี่ยน "เพลงชาติไทย" มาเป็นเพลงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันรวมถึงเปลี่ยนชื่อของ นนท์ บางเขนด้วย

คำขวัญที่รู้จักกันดีของนายกรัฐมนตรีผู้นี้คือ "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" หรือ "ท่านผู้นำไปไหนฉันไปด้วย" และ "ไทยอยู่คู่ฟ้า"
ในสายตานักวิชาการประวัติศาสตร์การเมืองไทยส่วนหนึ่งเห็นว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นเผด็จการทางทหารที่มีบทบาททางการเมืองสูง และให้ความสนใจกับความคิดที่ส่อไปในทางเชื้อชาตินิยมและการปลุกระดมความคลั่งชาติในบางครั้ง
คณะราษฎร[แก้]
จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีชื่อจริงว่า "แปลก" เนื่องจากเมื่อแรกเกิดบิดามารดาเห็นว่าหูทั้งสองข้างอยู่ต่ำกว่านัยน์ตา ผิดไปจากบุคคลธรรมดา จึงให้ชื่อว่า แปลก เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญ ได้ใช้ชื่อว่า ป. ซึ่งเป็นตัวอักษรย่อเฉกเช่นชื่อของบุคคลสำคัญหลายคนทางประเทศแถบตะวันตก[3]
จอมพล ป. เป็นหนึ่งในคณะนายทหารผู้ร่วมก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยเป็นนายทหารปืนใหญ่ รุ่นน้องของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา 2 ปี ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก และเป็นสมาชิกคณะราษฎรยุคก่อตั้งซึ่งมีทั้งหมด 7 คน ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส โดยถือเป็นผู้นำของคณะทหารบกยศชั้นผู้น้อย ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จอมพล ป. เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเป็นแกนนำในการรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และเป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม ในการปราบกบฏบวรเดช เมื่อปี พ.ศ. 2476 จนได้รับความไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
ซึ่งก่อนหน้านั้นระหว่างมีการประชุมกันครั้งแรกของคณะราษฎรที่ยาวนานติดต่อกัน 4 คืน 5 วัน ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อต้นปี พ.ศ. 2469 จอมพล ป. ที่สมาชิกคณะราษฎรคนอื่น ๆ ได้เรียกว่า "กัปตัน" และยกให้เป็นหัวหน้ากลุ่ม[4] ได้เสนอว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วให้สำเร็จโทษพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ แต่ทางนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน ได้คัดค้าน โดยยกเหตุผลว่าหากกระทำเช่นนั้นแล้ว จะทำให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศเหมือนเช่นการปฏิวัติรัสเซีย[5]
อีกทั้งในการประชุมครั้งสุดท้ายในประเทศไทย ก่อนที่จะลงมือจริงไม่กี่วัน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นนายทหารบกชั้นผู้ใหญ่ ผู้วางแผนการปฏิวัติทั้งหมด ได้เสนอแผนการออกมา ทางจอมพล ป. ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งถือเป็นนายทหารชั้นผู้น้อยกว่า ได้สอบถามว่า หากแผนการดังกล่าวไม่สำเร็จ จะมีแผนสำรองประการใดหรือไม่ แต่ทางฝ่าย พ.อ.พระยาทรงสุรเดชไม่ตอบ แต่ได้ย้อนถามกลับไปว่า แล้วทางจอมพล ป. มีแผนอะไร และไม่ยอมตอบว่าตนมีแผนสำรองอะไร ซึ่งทั้งคู่ได้มีปากเสียงกัน หลังจากการประชุมจบแล้ว จอมพล ป. ได้ปรารภกับนายทวี บุณยเกตุ สมาชิกคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนที่เข้าประชุมด้วยกันว่า ตนเองกับ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ไม่อาจอยู่ร่วมโลกกันได้ ซึ่งในส่วนนี้ได้พัฒนากลายมาเป็นความขัดแย้งกันระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับพระยาทรงสุรเดชในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีกบฏพระยาทรงสุรเดช ในปี พ.ศ. 2482[5]
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก[แก้]
นับแต่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2481 ได้มีนโยบายในการสร้างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลัทธิชาตินิยม เช่น ออกกฎหมายคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ มีการสงวนอาชีพบางอย่างไว้เฉพาะคนไทย และปลูกฝังให้ประชาชนนิยมใช้สินค้าไทย ด้วยคำขวัญว่า "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" รัฐบาลจอมพล ป. ได้เปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่าง เพื่อให้สอดคล้องกับการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และให้เกิดความทันสมัย เช่น ประกาศให้ข้าราชการเลิกนุ่งผ้าม่วง เลิกสวมเสื้อราชปะแตน และให้นุ่งกางเกงขายาวแทน มีการยกเลิกบรรดาศักด์ และยศข้าราชการพลเรือน มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเริ่มเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2484 ทำให้ ปี พ.ศ. 2483 มีเพียง 9 เดือน
มีการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมใหม่ โดยจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 เพื่อจัดระเบียบการดำเนินชีวิตของคนไทยให้เป็นแบบอารยประเทศ โดยประกาศรัฐนิยมฉบับต่างๆ อาทิ สั่งห้ามประชาชนกินหมากโดยเด็ดขาด ให้ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงแทน ให้สวมหมวก สวมรองเท้า ไม่ส่งเสริมศิลปะและดนตรีไทยเดิมแต่ส่งเสริมดนตรีสากล ฯลฯ โดยมีคำขวัญในสมัยนั้นว่า "มาลานำไทยสู่มหาอำนาจ" หากผู้หญิงคนใดไม่ใส่หมวกจะถูกตำรวจจับและปรับ และยังวางระเบียบการใช้คำแทนชื่อเป็นมาตรฐาน เช่น ฉัน, ท่าน, เรา มีคำสั่งให้ข้าราชการกล่าวคำว่า "สวัสดี" ในโอกาสแรกที่พบกัน และมีการตัดตัวอักษรที่ออกเสียงซ้ำกันจึงมีการเปลี่ยนแปลงการสะกดคำมากมาย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ เขียนเป็น กระซวงสึกสาธิการ เป็นต้น เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลุดจากอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ รัฐนิยมก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย อักขรวิธีภาษาไทยได้กลับไปใช้แบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมที่สังคมไทยเริ่มรับมาจากตะวันตกหลายรูปแบบในขณะนั้น ยังคงอยู่ต่อมาแม้ว่าจะไม่มีการบังคับใช้ตาม "รัฐนิยม" อีกต่อไป และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยสมัยใหม่ไปแล้ว[6]
ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่2 เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จากปัญหาเรื่องการใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ระหว่างไทยกับอินโดจีน ซึ่งอยู่ในครอบครองฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยฝรั่งเศสไม่ยอมตกลงเรื่องการใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองนครพนม การรบระหว่างฝรั่งเศสกับไทยจึงเริ่มขึ้น ฝรั่งเศสโจมตีไทยทางอรัญประเทศ รัฐบาล จอมพล ป. ส่งทหารไทยเข้าไปในอินโดจีนทางด้านเขมร แต่ในที่สุดญี่ปุ่นเสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ย จนมีการส่งผู้แทนไปลงนามอนุสัญญาโตเกียว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ในครั้งนั้นไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน รวมทั้งทางใต้ตรงข้ามปากเซ คือ แขวงจัมปาศักดิ์ และดินแดนในเขมรที่เสียให้ฝรั่งเศสไปเมื่อปี พ.ศ. 2450 กลับคืนมาด้วย และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงชัยชนะของไทยต่อฝรั่งเศส และ 1 ปีต่อมา จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485
หลังจากกรณีพิพาทอินโดจีน จอมพล.ป ได้ประกาศให้ประเทศไทยดำรงสถานะเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจนกระทั่งญี่ปุ่นทำการยกพลขึ้นบกเพื่อขอทางผ่านไปโจมตีพม่าและมาเลเซีย จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีไทย ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการประคับประคองประเทศชาติ ให้ผ่านพ้นวิกฤตจึงประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและเข้าร่วมฝ่ายอักษะ[7] ทั้งนี้มีการบอกเล่ากันว่า ท่านขอพระราชทานยศจอมพลให้กับตนเองเพราะท่านต้องการมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ[7] ในระหว่างสงครามจอมพล.ป ได้ทำการตกลงช่วยเหลือญี่ปุ่นด้านการรบเพราะหวังว่าจะได้ดินแดนเพิ่มเติมเข้ามาครอบครองโดยประเทศไทยได้รับจังหวัดมาลัย อีกทั้งได้ส่งกองทัพพายัพเข้าดินแดนบางส่วนของพม่าจัดตั้งสหรัฐไทยเดิมและประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น มหาอาณาจักรไทย หลังสงครามโลกสงบแล้ว ท่านต้องติดคุกระหว่างการถูกไต่สวนในฐานะอาชญากรสงครามอยู่ระยะหนึ่ง ตาม พระราชบัญญัติอาชญากรรมสงคราม ที่รัฐบาลไทยประกาศใช้เป็นกฎหมายหลังสงครามโลก (มีผู้วิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเพื่อมิให้ต้องส่งตัวผู้นำรัฐบาลและนายทหารไทยในยุคนั้นไปให้ศาลอาชญากรรมสงครามระหว่างประเทศที่สัมพันธมิตรตั้งขึ้นที่โตเกียวและเนือร์นแบร์กพิพากษาคดี แต่ให้ศาลไทยเป็นผู้พิพากษาแทน ซึ่งเป็นผลดีต่อชีวิตของอาชญากรรมสงครามเหล่านี้ที่เป็นคนไทยที่รอดพ้นจากโทษประหารชีวิตทั้งหมด) อย่างไรก็ดี ศาลไทยได้พิจารณาเห็นว่า กฎหมายย่อมไม่มีผลย้อนหลัง จึงปล่อยตัวท่านเป็นอิสระ หลังจากนั้นท่านก็ได้ประกาศยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด กลับไปใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่บ้านที่ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยปลูกผักต่าง ๆ เพื่อเลี้ยงชีพ
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งหลัง
แต่แล้วด้วยความผกผันทางการเมือง ในปี พ.ศ. 2491 ท่านก็ได้หวนกลับมาคืนสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจากการทำรัฐประหารของกลุ่มนายทหารที่นับถือท่านอยู่ ที่นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ คราวนี้ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 9 ปี ผ่านวิกฤตและเหตุการณ์กบฏจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง เช่น กบฏเสนาธิการ, กบฏวังหลวง, กบฏแมนฮัตตัน รวมทั้งยังเคยยึดอำนาจตัวเองด้วย จึงได้รับฉายาในช่วงที่ยังไม่หลุดจากอำนาจว่า "นายกฯตลอดกาล"[8]
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า "จอมพลกระดูกเหล็ก" เพราะมีชีวิตทางการเมืองอย่างเหลือเชื่อ เคยถูกลอบสังหารมาแล้วถึง 3 ครั้ง[9] แต่ก็รอดชีวิตมาได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ในปี พ.ศ. 2494 ที่ท่านถูกจี้ลงเรือศรีอยุธยา ถูกทิ้งระเบิดผ่านเตียงที่ท่านเคยนอนอยู่อย่างเฉียดฉิว ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนับร้อย จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของท่าน คือ ในเย็นวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เมื่อถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายทหารรุ่นน้องอีกคนหนึ่งที่ท่านไว้ใจและมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้ กระทำการรัฐประหาร ซึ่งท่านได้หลบหนีไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวกับผู้ติดตามเพียง 2 คน ไปอย่างหวุดหวิด โดยผ่านไปทางประเทศกัมพูชา ก่อนจะลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ณ ที่นั่น ท่านและครอบครัวได้รับการต้อนรับอย่างดี ทั้งนี้เพราะทางรัฐบาลญี่ปุ่นถือว่าเป็นท่านเป็นผู้ที่บุญคุณต่อญี่ปุ่น[9]ซึ่งเคยยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านเข้าประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วยดี ไม่ต้องมีการสู้รบยืดเยื้ออันรังแต่จะทำให้มีแต่ความสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งท่านก็ได้พำนักอยู่ที่นั่นจนตราบถึงแก่อสัญกรรม
บั้นปลายชีวิต
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ในเวลาประมาณ 20.30 น. ณ บ้านพักส่วนตัว ชานกรุงโตเกียว สิริอายุได้ 66 ปี โดยก่อนที่จะถึงแก่อสัญกรรมนั้น จอมพล ป. ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเหมือนคนปกติ ยังรับประทานอาหารมื้อเที่ยงพร้อมกับครอบครัวและคนสนิทได้เหมือนปกติ แต่ทว่าเมื่อถึงเวลาเย็นก็ได้ทรุดลงและถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหัน (ซึ่งในเรื่องนี้บางส่วนเชื่อกันว่าเป็นการลอบวางยาพิษ ทั้งนี้เนื่องจากก่อนหน้านั้น จอมพล ป. เริ่มได้สานสัมพันธ์กับ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นสมาชิกคณะราษฎรยุคก่อตั้งมาด้วยกัน แม้ครั้งหนึ่งทั้งคู่จะเคยเป็นศัตรูทางการเมืองกันมาก่อนก็ตาม แต่ทว่าในเวลานั้นทั้งคู่ต่างก็หมดอำนาจและต้องลี้ภัยในต่างประเทศด้วยกัน แม้จะอยู่คนละที่ แต่ก็มีการติดต่อกันทางจดหมาย โดยมีผู้อาสาเดินจดหมายให้ และใช้รหัสลับแทนชื่อในการติดต่อกัน ซึ่งสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กระทำการรัฐประหารจอมพล ป. ไปเมื่อปี พ.ศ. 2500 ก็ถึงแก่อสัญกรรมไปก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2506 จึงมีการคาดหมายว่า อีกไม่นานทั้งจอมพล ป. และนายปรีดีจะเดินทางกลับสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะนายปรีดีจะกลับมาแก้ข้อกล่าวหาในคดีสวรรคต และทั้งคู่จะร่วมกันรื้อฟื้นอำนาจทางการเมืองทางสายของคณะราษฎรขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่หมดบทบาทไปเลยอย่างสิ้นเชิงจากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์)[10]
ร่างจอมพล ป. ได้มีพิธีฌาปนกิจขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะมีการนำอัฐิกลับคืนสู่ประเทศไทยในวันที่ 27 มิถุนายน ปีเดียวกัน โดยมีพิธีรับอย่างสมเกียรติจากทั้ง 3 เหล่าทัพ

คนที่ 4 ควง อภัยวงศ์


พันตรี ควง อภัยวงศ์ หรือที่นิยมเรียกว่า นายควง อภัยวงศ์ (17 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2511) อดีตนายกรัฐมนตรีไทย 4 สมัย ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี พ.ศ. 2475 เคยมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงโกวิทอภัยวงศ์
พ.ต.ควง ถือเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งกระทรวงคมนาคมยุคใหม่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการคนแรก ด้วยประสบการณ์ที่เคยรับราชการจนมีตำแหน่ง เป็นถึง อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข นอกจากนี้ยังเคย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงเกษตราธิการ และกระทรวงมหาดไทย อีกด้วp
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 11 ของไทย , 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488)
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 พร้อมกับการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีคณะที่ 11 ของไทย ภายหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่ง การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นไปโดยสถานการณ์บังคับ จากการได้รับเลือกโดยสภาฯ ในขณะที่ไม่มีผู้อื่นยินดีรับตำแหน่ง เนื่องจากเกรงจะถูกรัฐประหารโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งนั้นได้ปรึกษากับอธิบดีกรมตำรวจ และตัดสินใจเดินทางไปอธิบายกับ จอมพล ป. ถึงค่ายทหารที่จังหวัดลพบุรีจนเป็นที่เข้าใจและยอมรับของจอมพล ป. ที่จะสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ พร้อมกับการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กระทรวงคมนาคม อีกด้วย
รัฐบาลของ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ได้ประกาศสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 หลังจาก ประเทศญี่ปุ่น ประกาศยอมแพ้สงครามแล้ว 2 วัน โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ ลงนามในฐานะ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระบุให้ การประกาศสงครามต่อ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ของจอมพล ป. เป็นโมฆะ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในวันรุ่งขึ้น ด้วยเหตุผล เพื่อให้เป็นไปตามประเพณีนิยมแห่งวิถีการเมือง และเปิดโอกาสให้ผู้มีความเหมาะสม ในอันที่จะยังมิตรภาพ และดำเนินการเจรจา ทำความเข้าใจอันดีกับฝ่ายพันธมิตร ได้เข้าบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป
หลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งมี นายทวี บุณยเกตุ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณ 17 วัน และผู้มารับช่วงต่อคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน หัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เดินทางกลับมารับช่วงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 และดำเนินการเจรจา กับประเทศอังกฤษ ในขณะที่ นายปรีดี พนมยงค์ ประสานขอความสนับสนุน จากประเทศจีน ให้ช่วยรับรอง จนประเทศไทย สามารถพ้นจากสถานะ ประเทศผู้แพ้สงครามในที่สุด
ในระหว่างที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ได้รับมอบหมายจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งข้าวให้อังกฤษ ซึ่งได้ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ไม่มีการคอร์รัปชั่น จนทางอังกฤษเอ่ยชมเชย
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 14 ของไทย, 31 มกราคม พ.ศ. 2489 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2489)
หลังจากเจรจากับอังกฤษจนสำเร็จ และประเทศไทยพ้นสถานะประเทศผู้แพ้สงครามแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะสมาชิกสภาชุดที่ถูกยุบนั้นได้รับเลือกตั้งมา ตั้งแต่ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 แต่เมื่อหมดวาระ 4 ปียังไม่ได้เลือกตั้งใหม่ เพราะติดช่วงสงครามโลก
การเลือกตั้งมีขึ้นวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 พ.ต.ควงได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีคณะที่ 14 ของไทย มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่หลังจากตั้งรัฐบาลได้เพียง 2 เดือน สภาฯ ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน (พ.ร.บ.ปักป้ายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ "พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว") ที่เสนอโดย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี (ผู้ใกล้ชิด นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เขตอุบลราชธานี) ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐบาล พ.ต.ควง ไม่เห็นด้วยในหลักการ เนื่องจากไม่มีมาตรการ ในการควบคุมราคา คณะรัฐมนตรีได้แถลงให้สภาทราบแล้วว่า คณะรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติตาม ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้ และเกรงจะเป็นการเดือดร้อน แก่ประชาชนทั่วไป แต่สภาฯได้ลงมติรับหลักการ ด้วยคะแนน 65 ต่อ 63 เสียง รัฐมนตรีทั้งคณะจึงได้กราบถวายบังคม ลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2489 โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการสนับสนุนจากสภา ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และต่อมาได้ควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
การก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ (6 เมษายน พ.ศ. 2489)
หลังจากพ้นวาระในสมัยนี้แล้ว พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ได้ร่วมกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมทั้งนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง เช่น นายใหญ่ ศวิตชาต, นายเลียง ไชยกาล, ดร.โชติ คุ้มพันธ์, พระยาศราภัยพิพัฒ, นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ และ นายฟอง สิทธิธรรม ก่อตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 โดย พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรคคนแรก มี ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นรองหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค และมี นายชวลิต อภัยวงศ์ ผู้มีศักดิ์เป็นน้องชาย เป็น รองเลขาธิการพรรค มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพรรคฝ่ายค้านคานอำนาจรัฐบาลของนายปรีดี ที่ขณะนั้นมีอำนาจอย่างสูง ที่เข้ามาแทนที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 19 ของไทย, 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491)
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ รับดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 พร้อมทั้งรับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ หลังการรัฐประหาร เพื่อจัดการเลือกตั้ง วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2491 นับเป็น คณะรัฐมนตรีคณะที่ 19 มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรี หลังจัดการเลือกตั้งแล้วจึงพ้นวาระไป
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 20 ของไทย, 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 - 8 เมษายน พ.ศ. 2491)
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ กลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อเป็นสมัยที่ 4 เนื่องจากผลการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงข้างมาก พ.ต.ควง ในฐานะหัวหน้าพรรค จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องอีกสมัย พร้อมทั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นับเป็น คณะรัฐมนตรีคณะที่ 20 มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นายชวลิต อภัยวงศ์ เป็น รัฐมนตรี แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 กลุ่มนายทหารชุดเดียวกับคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ก็บีบบังคับให้ลาออก และ สภาฯ มีมติให้ท่าน พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 เรียกการปฏิวัติครั้งนี้ว่า "ปฏิวัติเงียบ" หลังการรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับเข้า ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่ง
ชีวิตหลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (8 เมษายน พ.ศ. 2491 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2511)
หลังจากนั้น พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ยังคงอยู่ในแวดวงการเมือง ด้วยการนำพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯ อย่างแข็งขัน ในรัฐบาลหลายชุด ทั้ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยสุดท้าย, รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร
จนกระทั่งเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น และใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 แทน ซึ่งมีบทบัญญัติให้ยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมือง เป็นต้น ทำให้บทบาททางการเมืองของ พ.ต.ควงต้องยุติไปโดยปริยาย ซึ่งเขาได้รอคอยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้น และตั้งความหวังไว้ว่าจะลงเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง แต่ได้อสัญกรรมลงเสียก่อน
เสียชีวิต
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคระบบทางเดินหายใจขัดข้อง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2511 ขณะอายุได้ 66 ปี โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
หลังการถึงแก่อสัญกรรม พรรคประชาธิปัตย์ได้ก่อตั้ง มูลนิธิควง อภัยวงศ์ ขึ้น ตามเจตนารมณ์ และให้ชื่ออาคารที่ทำการของพรรคหลังแรกว่า "อาคารควง อภัยวงศ์" เพื่อรำลึกถึงด้วย

คนที่ 5 ทวี บุณยเกตุ


นายทวี บุณยเกตุ (10 พ.ย. 2447 - 3 พ.ย. 2514) นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 (รัฐบาลที่ 12) หนึ่งในคณะราษฎรสายพลเรือน และขบวนการเสรีไทยและเป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง พ่อสอนลูก

นายทวี บุณยเกตุ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 เวลา 13.20 น. ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง (ซึ่งขณะนั้นถือเป็นอำเภอเมือง จังหวัดตรัง) เป็นบุตรของพระยารณชัยชาญยุทธ์ (ถนอม บุณยเกตุ) กับคุณหญิงรณชัยชาญยุทธ์ (ทับทิม) โดยชื่อ ทวี มาจากการที่บิดาและมารดาสมรสกันในวันทวีธาภิเษก บุคคลที่เข้าร่วมงานเมื่อเลิกจึงมาในงานสมรสโดยไม่ได้ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า ติดเหรียญตราทวีธาภิเษกเข้าร่วมงานเลย
นายทวีสมรสกับคุณหญิงอำภาศรี บุณยเกตุ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 สิริอายุได้ 67 ปี
ในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี นายทวีได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นผู้หนึ่งที่มีแนวความคิดสอดคล้องกับนายปรีดี พนมยงค์ นอกจากนี้ยังสนิทสนมและได้รับความไว้วางใจจากนายควง อภัยวงศ์ เป็นอย่างมาก
ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทวี และนายควง ได้รับเลือกเป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2486 แต่เนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวกับจอมพล ป. ซึ่งไม่ยอมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นายทวีและนายควง จึงลาออกจากตำแหน่งทั้งคู่
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นายควง อภัยวงศ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพล ป. นายทวี บุณยเกตุได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงเวลานั้น นายทวียังได้รับมอบอำนาจเป็นผู้สั่งการแทนนายกรัฐมนตรีในหลายโอกาส ทั้งยังเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในการประกาศพระบรมราชโองการว่าสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเป็นโมฆะ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488
หลังจากนายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และอยู่ระหว่างรอ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แต่งตั้งนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และลาออกเมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 ระยะเวลาในการบริหารประเทศของนายทวีจึงสั้นเพียง 18 วัน นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด

คนที่ 6 เสนีย์ ปราโมช

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (26 พฤษภาคม พ.ศ. 2448 — 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2540) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 4 สมัย ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนเข้าสู่วงการเมือง เคยเป็นผู้พิพากษา และเคยดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอเมริกา มาก่อน
ม.ร.ว.เสนีย์ เกิดที่ค่ายทหาร ในจังหวัดนครสวรรค์ เวลาใกล้รุ่ง เป็นโอรสใน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) ชื่อ "เสนีย์" หมายถึง ทหาร หรือ เสนาบดี ได้รับพระราชทานนามนี้จากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สันนิษฐานว่า เนื่องจากเสด็จพ่อ (พระองค์เจ้าคำรบ) เป็นทหาร
ชีวิตครอบครัวสมรสกับ ท่านผู้หญิงอุศนา ปราโมช มีบุตรชาย-หญิง 3 คน บุตรชายได้แก่ ม.ล.เสรี ปราโมช (ถึงแก่กรรม) ม.ล.อัศนี ปราโมช (องคมนตรีในรัชกาลปัจจุบัน) และ บุตรีได้แก่ ม.ล.นียนา ปราโมช (ถึงแก่กรรม)
ม.ร.ว.เสนีย์ มีน้องชายที่มีชื่อเสียงคู่กันคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีความสามารถในหลายสาขา โดยสื่อมวลชนนิยมเรียก ท่านทั้งคู่ว่า "หม่อมพี่ หม่อมน้อง" นอกจากนี้ยังมีพี่สาวคือ ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี (สมรสกับ พล.ต.อ.พระพินิจชนคดี หรือ พินิจ อินทรทูต)
ม.ร.ว เสนีย์ เป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่อายุน้อยที่สุดในประศาสตร์การเมืองไทย ด้วยอายุขณะรับตำแหน่ง คือ 40 ปี
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะ หัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจาก ทวี บุณยเกตุ เพื่อเจรจากับประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับสถานะของประเทศไทย ที่เป็นฝ่ายเดียวกับสัมพันธมิตร ภายหลังการประกาศสันติภาพ โดยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ให้การประกาศสงคราม กับฝ่ายสัมพันธมิตร ของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ โดยเดินทางกลับมารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488
ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถทางภาษา ตลอดจนความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณี และระบบกฎหมายตะวันตก เจรจากับ ฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ในครั้งแรกประเทศอังกฤษ ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ประเทศไทย เป็นเมืองในอาณัติ แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช สามารถเจรจาให้ไทย หลุดพ้นจากการเป็น เมืองในอาณัติอังกฤษได้สำเร็จ โดยอังกฤษและไทยได้ลงนามใน "ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อยุติภาวะสงคราม ระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย" ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 มีใจความสำคัญคือ ไทยต้องคืนดินแดนในมลายู และรัฐฉาน ที่ได้มาระหว่างสงครามให้แก่อังกฤษ และต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพย์สินของอังกฤษ ที่ถูกไทยยึดครองระหว่างสงคราม เป็นข้าวสาร 1.5 ล้านตัน
จากนั้นไทยได้ทำการตกลงกับฝรั่งเศส มีจุดประสงค์เพื่อขอเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ โดยได้ตกลงคืนดินแดนที่ได้มาจากกรณีพิพาทอินโดจีน เมื่อปี พ.ศ. 2483 ให้กับฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสยังเรียกร้องให้ไทยมอบ พระแก้วมรกตและพระบาง ให้แก่ฝรั่งเศส โดยอ้างว่าเคยอยู่ในลาวมาก่อนถึง 200 กว่าปี ก่อนจะมาอยู่ที่กรุงเทพฯ และเมื่อลาวเป็นดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศสแล้ว ไทยก็ควรคืนพระแก้วมรกตให้แก่ลาวด้วย แต่ฝ่ายไทยได้อ้างว่า พระแก้วมรกต ค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย การที่ต้องอยู่ในลาวถึง 200 กว่าปีนั้น เป็นเพราะพระไชยเชษฐาได้นำพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ ไปไว้ที่เมืองหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์ ดังนั้นการที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต มาไว้ยังกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ ตามลำดับนั้น จึงเป็นการนำกลับคืนสู่สถานที่เดิม ทำให้ข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสข้อนี้ต้องตกไป ส่วนพระบางนั้นไทยได้ส่งคืนลาวไปตามข้อเรียกร้อง
นอกจากนี้ไทยยังได้เปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับ สหภาพโซเวียด และทำสนธิสัญญาทางไมตรีกับประเทศจีน เพื่อไม่ให้คัดค้านการเข้าเป็นสมาชิก องค์การสหประชาชาติของไทย และในที่สุดไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2489 เป็นสมาชิกลำดับที่ 55
รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ประกาศ พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เพื่อลงโทษผู้นำ หรือหัวหน้ารัฐบาล ที่ร่วมก่อให้เกิดสงคราม ที่ทำให้ประเทศเป็นฝ่ายปราชัย ซึ่งหากรัฐบาลไม่ตราพระราชบัญญัตินี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรก็จะนำผู้ต้องหา ไปดำเนินคดีในต่างประเทศในฐานะ อาชญากรสงคราม
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 ครั้ง โดยในครั้งสุดท้ายได้เกิด เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ตำรวจและกองกำลังติดอาวุธ เข้าปิดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีนักศึกษา และประชาชนหลายพันคนชุมนุมประท้วง การกลับประเทศไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ถูกประชาชนขับไล่ ออกจากประเทศไปเมื่อ 3 ปีก่อน ในวันเดียวกัน พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้จัดตั้ง คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เข้ายึดอำนาจจาก รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์
หลังจากพ้นตำแหน่งแล้ว ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้ลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และวางมือทางการเมือง ใช้ชีวิตสงบเงียบตลอดมา และได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 สิริอายุได้ 92 ปี

คนที่ 7 ปรีดี พนมยงค์

ศาสตราจารย์[1]ดร. ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 — 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526) เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย[3] และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การเพียงคนเดียวของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดีเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงครามนอกจากนี้เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส
ปรีดีต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสวรรคต โดยถูกกล่าวหาจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว[11] ต่อมาเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นเหตุให้เขาต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศจีนและฝรั่งเศสรวมระยะเวลากว่า 30 ปี และไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยอีกเลยจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม[12]เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
ระหว่างที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ปรีดีได้ดำเนินการฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาทต่อศาลยุติธรรม ผลปรากฏว่าศาลตัดสินให้ชนะทุกคดี และยังได้รับความรับรองจากทางราชการตลอดจนเงินบำนาญและหนังสือเดินทางของไทย
เมื่อกลับถึงกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2470 ปรีดีเริ่มทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงประดิษฐ์มนูธรรม"[49]เมื่อ พ.ศ. 2471 ขณะมีอายุ 28 ปี ต่อมาใน พ.ศ. 2475 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการกรมร่างกฎหมาย[50] (ต่อมาได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์พร้อมกับคณะรัฐมนตรีชุดที่ 9 ใน พ.ศ. 2485 และกลับไปใช้ชื่อเดิมคือ นายปรีดี พนมยงค์[51])
ในช่วงที่รับราชการในกระทรวงยุติธรรมนี้ ปรีดีได้รวบรวมกฎหมายไทยตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันซึ่งอยู่ในสภาพกระจัดกระจายให้มารวมเป็นเล่มเดียว ใช้ชื่อว่า “ประชุมกฎหมายไทย” และได้รับการตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2473 ที่โรงพิมพ์นิติสาสน์ซึ่งเป็นกิจการส่วนตัวของเขาเอง หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมและสร้างรายได้ให้กับปรีดีเป็นอย่างมาก[52]
นอกจากงานที่กรมร่างกฎหมายแล้ว ปรีดียังเป็นอาจารย์ผู้สอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในชั้นแรกได้สอนวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ว่าด้วยลักษณะหุ้นส่วน บริษัทและสมาคม ต่อมาได้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล ลูกศิษย์ของเขาในช่วงดังกล่าวนี้ได้แก่ สัญญา ธรรมศักดิ์ จิตติ ติงศภัทิย์ ดิเรก ชัยนาม เสริม วินิจฉัยกุล เสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ ไพโรจน์ ชัยนาม จินดา ชัยรัตน์ โชติ สุวรรณโพธิ์ศรี และศิริ สันตะบุตร
ในปี พ.ศ. 2474 ปรีดีเป็นคนแรกที่เริ่มสอนวิชากฎหมายปกครอง (Droit Administratif)[52] กล่าวกันว่าวิชากฎหมายปกครองนี้ เป็นวิชาที่สร้างชื่อเสียงแก่ปรีดีเป็นอย่างมาก เพราะสาระของวิชานี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิชากฎหมายมหาชน ซึ่งอธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอันเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศไทยยังคงปกครองอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[53] ในขณะเดียวกัน ก็ได้อาศัยการสอนที่โรงเรียนดังกล่าว ปลุกจิตสำนึกนักศึกษาให้สนใจเป็นขั้น ๆ ถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบบเดิมให้เป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังได้เปิดอบรมทบทวนวิชากฎหมายที่บ้านถนนสีลมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับนักศึกษาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงมีลูกศิษย์ลูกหาเข้าร่วมเป็นสมาชิกและผู้สนับสนุนคณะราษฎรในเวลาต่อมาหลายคน
ในขณะที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ปรีดี พนมยงค์ ได้ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกเพื่อก่อตั้ง "คณะราษฎร" เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ณ หอพักแห่งหนึ่งย่าน "Rue Du Sommerard" กรุงปารีส ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี, ร.ท.แปลก ขิตตะสังคะ, ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี, ภก.ตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), นายแนบ พหลโยธิน โดยมีวัตถุประสงค์คือ เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[56] และการดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ คือ
จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ปรีดีร่วมกับสมาชิกคณะราษฎรที่ประกอบด้วยกลุ่มทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ หลังจากนั้นคณะราษฎรโดยปรีดี พนมยงค์ ได้จัดให้มีการประชุมระหว่างคณะราษฎร และเสนาบดี ปลัดทูลฉลอง ขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อชี้แจงจุดประสงค์ หลักการระบอบใหม่ กฎหมายพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยย่อ และขอความร่วมมือในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป
ปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[3] เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกับอังกฤษ เรื่องสัญญาสมบูรณ์แบบ และการเจรจาให้รัฐบาลสหรัฐยกเลิกคำสั่งเพิกถอนเงินซึ่งได้ถูกกักกันไว้ในสหรัฐ ให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขสถานะผู้แพ้สงครามได้สำเร็จอย่างละมุนละม่อม สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติลำดับที่ 55[116]
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต รัฐบาลปรีดีที่เพิ่งชนะเลือกตั้งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 จึงขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาให้อัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไป[117][118] เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว ปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ทั้งที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489[119] แต่สภาผู้แทนราษฎรก็สนับสนุนให้ปรีดีดำรงตำแหน่งตามเดิม[120][121]
กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทำให้ศัตรูทางการเมืองของปรีดี ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทหารสาย จอมพล ป. พิบูลสงครามที่สูญเสียอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดย พรรคประชาธิปัตย์[122] และกลุ่มอำนาจเก่า[123] ฉวยโอกาสนำมาใช้ทำลายปรีดีทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในศาลาเฉลิมกรุงว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง"[124][125] และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 โดยหลังจากนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มปรีดี ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน[126]
ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ภายหลังจากที่ปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้รับเชิญจากรัฐบาลหลายประเทศให้ไปเยือนประเทศเหล่านั้น รัฐบาลไทยจึงมอบหมายให้เขาเป็นหัวหน้าคณะทูตสันถวไมตรีเดินทางรอบโลกเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและพบปะกับผู้นำนานาประเทศ โดยได้ไปเยือนประเทศจีนเป็นแห่งแรก จากนั้นก็ไปฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ รวมทั้งสิ้นเก้าประเทศ และกลับมาถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 รวมเวลาที่ออกไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ 3 เดือนเต็ม

คนที่ 8 ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์



พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 — 3 ธันวาคม พ.ศ. 2531) นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2489-2490
พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้เข้าร่วมในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยตัดสินใจเป็นสมาชิกคณะราษฎรเพียง 1 วันเท่านั้นก่อนการปฏิวัติ จากการชักชวนของ หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เพื่อนนายทหารเรือด้วยกัน ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือในคณะราษฎร หลังจากที่ได้ทาบทามมาก่อนหน้านั้น โดยมาชักชวนถึงที่บ้านพักในตรอกวัดสามพระยาวรวิหาร บางขุนพรหม ในเวลาเย็น จึงตัดสินใจเข้าร่วมด้วยในขณะนั้น โดยในเวลาประมาณ 03.00 น. ของเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันปฏิวัติ พล.ร.ต.ถวัลย์ ขณะนั้นอยู่ในยศ เรือโท (ร.ท.) ได้ออกจากบ้านพักมาคนเดียวด้วยรถลาก มาที่ท่าราชวรดิฐ ซึ่งเป็นจุดนัดพบตามแผน ซึ่ง พล.ร.ต.ถวัลย์ ได้พกปืนพกขนาด 6.35 มิลลิเมตร (6.35 ม.ม.) พร้อมด้วยกระสุนมาด้วย
จากนั้นเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว ได้เริ่มบทบาททางการเมืองโดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 (ส.ส.ประเภทที่ 2) และได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี ครั้งแรกในสมัยรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อปี พ.ศ. 2476 และเมื่อปี พ.ศ. 2477 ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงสละราชสมบัติ ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล ให้เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปกราบบังคมทูลเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ที่ประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 ในราชวงศ์จักรีสืบไป ในปี พ.ศ. 2479 - พ.ศ. 2481 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลของ นายปรีดี พนมยงค์
พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งนั้น ประเทศอยู่ในภาวะหลังสงคราม เศรษฐกิจของประเทศกำลังทรุดหนัก พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจด้วยการจัดตั้ง องค์การสรรพาหาร ขึ้น โดยการซื้อของแพงมาขายถูกให้แก่ประชาชนเพื่อตรึงราคาสินค้าไม่ให้สูง และเรียกเก็บธนบัตรที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำเข้ามาใช้จ่ายจากประชาชนด้วยการออกธนบัตรใหม่ให้แลก รวมทั้งนำเอาทองคำซึ่งเป็นทุนสำรองของชาติออกขายแก่ประชาชน และจากเหตุการณ์นี้ทางรัฐบาลและรวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในการส่งข้าวออกขายนอกประเทศ โดยนำข้าวชั้นดีไปขายเหลือแต่เพียงข้าวหักสำหรับเลี้ยงสัตว์ไว้ให้ประชาชนบริโภคเองในประเทศ รวมถึงการคอร์รัปชั่นประการต่าง ๆ ในรัฐบาล ทำให้ฝ่ายค้านโดย พรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการอภิปรายครั้งแรกด้วยที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุ แม้จะได้รับเสียงส่วนมากไว้วางใจ แต่กระแสกดดันที่รุนแรงทำให้ท่านต้องลาออกในวันรุ่งขึ้น และได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อทันที [4]
ซึ่งสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้น มีความแตกแยกกันเองในหมู่นักการเมือง และประชาชนค่อนข้างมากหลัง เหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 และเหตุอื่น ๆ บทบาทของท่านในช่วงนี้ คือ การเจรจาทำความเข้าใจกันของทั้งสองฝ่าย เพื่อประสานรอยร้าว จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "นายกฯลิ้นทอง" แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้นจนนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490[5]
หลังรัฐประหารแล้ว ท่านต้องเดินทางออกนอกประเทศไปลี้ภัยอยู่ที่ฮ่องกงระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับประเทศไทย และใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบต่อมา พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2531 ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมอายุได้ 87 ปี นับเป็นทหารเรือคนแรก ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

คนที่ 9 พจน์ สารสิน

พจน์ สารสิน (25 มีนาคม พ.ศ. 2448 - 28 กันยายน พ.ศ. 2543) นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของประเทศไทย, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ภายหลังได้ลาออกเนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลเกี่ยวกับการรับรองรัฐบาลเบาได๋ แห่งเวียดนามใต้ และอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา
พจน์ สารสิน เริ่มบทบาททางการเมืองด้วยการสนับสนุนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี พ.ศ. 2490 และเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ. 2491 และต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ภายหลังได้ลาออกเนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลเกี่ยวกับการรับรองรัฐบาลเบาได๋ แห่งเวียดนามใต้
พจน์ สารสิน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500[7] หลังจากการทำรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภารกิจสำคัญของรัฐบาลคือจะต้องเร่งจัดการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้บริสุทธิ์และยุติธรรมอันเป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง และเป็นเหตุผลที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ใช้เป็นข้ออ้างในการ ยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดเก่า หลังจากที่ได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว พจน์ สารสิน ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกลับไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ส.ป.อ. ตามเดิม หลังชีวิตราชการท่านพำนักอยู่ที่บ้านพักในกรุงเทพมหานคร และยุติบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิง จนถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2543 รวมอายุได้ 95 ปีเศษ

คนที่ 10 ถนอม กิตติขจร

จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ ถนอม กิตติขจร (11 สิงหาคม พ.ศ. 2454—16 มีนาคม พ.ศ. 2547) เป็น อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของประเทศไทย ผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 มีการเลือกตั้งทั่วไปและมีรัฐสภา ในปี พ.ศ. 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้ทำรัฐประหารรัฐบาลของตนเอง และได้จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หนึ่งในผู้ที่ยืนหยัดวิจารณ์อย่างไม่เกรงกลัวอำนาจได้แก่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนจดหมายในนามนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึง ผู้ใหญ่ ทำนุ เกียรติก้อง (หมายถึงจอมพลถนอมนั่นเอง)
จนกระทั่งมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามธรรรมนูญการปกครองดังกล่าวได้มีมติให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป
จอมพล ถนอม กิตติขจร พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 รัฐบาลได้ใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์นี้ ทำให้พลังทางการเมืองหลายฝ่ายกดดันให้จอมพลถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยการยึดอำนาจและรัฐประหารทั้งสิ้น 10 ปี 6 เดือนเศษ หลังจากนั้น ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของจอมพลถนอม จนนำไปสู่การยึดทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สุจริตต้องเป็นจำนวนมาก
วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 ท่ามกลางกระแสการปฏิวัติรัฐประหารของฝ่ายทหารทวีความรุนแรงอย่างกว้างขวาง จอมพลถนอมในวัย 65 ปี ได้กลับประเทศไทยอีกครั้งโดยบวชเป็นสามเณร ทำให้นักศึกษาประชาชนได้ออกมาประท้วงขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือดรายนี้ เป็นเหตุให้กลุ่มการเมืองอีกฝ่ายที่นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ฉวยโอกาสก่อรัฐประหารและทำการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายจำนวนมาก นำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุติการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา และทำให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้เผด็จการทหารต่อมาเป็นเวลาปีเศษ
จอมพลถนอม กิตติขจร เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 สมัย (รวมในสมัยเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติตัวเองด้วยเป็นสมัยที่ 3) สมัยแรกเป็นนายกในระยะเวลาสั้น ๆ หลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในปี พ.ศ. 2501 สมัยที่สองถึงสี่หลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอมจึงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการทหาร ถึงแม้ว่า ได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้า และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้นที่ 1 เสนางคบดี ซึ่งเปรียบเสมือนสายสะพายแห่งความกล้าหาญ พร้อมกันนี้ยังได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อีกกว่า 30 รายการ ซึ่งถือว่าเป็นการจบชีวิตของนายทหารยศจอมพลคนสุดท้ายของกองทัพไทย ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลในเหตุการณ์ 14 ตุลา ปี 2516 ซึ่งเป็นเหตุการณ์การประท้วงของ นิสิต นักศึกษา และประชาชน โดยในเหตุการณ์ ทหารได้ใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เป็นผลให้ จอมพล ถนอม กิตติขจร ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกจากประเทศ พร้อมกับ จอมพล ประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ภายหลังเหตุการณ์ จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็ได้เดินทางกลับ แล้วบวชเป็นพระสามเณร เป็นชนวนไปสู่การ ขับไล่ ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ จนโยงไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา ปี 2519 ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายจำนวนมาก
จอมพล ถนอม กิตติขจร เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 สมัย เป็นระยะเวลาถึง 10 ปี 6 เดือนเศษ และนับจากการเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา นายทหารที่มาจากคนธรรมดาสามัญที่ครองยศจอมพลสายทหารบก มีด้วยกัน 7 คน จอมพลถนอมเป็นคนที่ 6 จอมพลประภาส จารุเสถียรเป็นคนที่ 7 แต่ผู้ที่มีอายุยืนที่สุด คือจอมพลถนอม จึงกลายเป็น "จอมพลคนสุดท้าย" จอมพลถนอมถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตกเมื่อกลางดึก เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2547 รวมอายุได้ 92 ปี

คนที่ 11 สฤษดิ์ ธนะรัชต์

จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ พลตำรวจเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 — 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506) เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งจนถึงแก่อสัญกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารบกและอธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้ริเริ่มการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ก่อตั้งสำนักงบประมาณ และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารทหารไทย เจ้าของคำพูดที่ว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ" และ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"
จอมพลสฤษดิ์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการแปลวรรณกรรมกัมพูชามาเป็นภาษาไทยระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษฎ์ได้ให้การสนับสนุนผู้มีอำนาจของประเทศลาว นายพลพูมี หน่อสะหวัน ในการต่อสู้กับกองโจรคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว ในราชอาณาจักรลาว

ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเป็นรัฐบาลชุดสุดท้ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่อยู่ในตำแหน่งนั้นได้เพียง 10 วัน ก็ลาออก โดยสาเหตุการลาออกนั้นเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500[8] ซึ่งมีการกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก มีการโกงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้อันธพาลที่เรียกโดยสุภาพในขณะนั้นว่า "ผู้กว้างขวาง"[9] ซึ่งผลก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก จึงสามารถดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนัก จากการเดินประท้วงของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนเป็นจำนวนมาก เรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลาออกจากตำแหน่ง
ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อสถานการณ์ลุกลาม เกิดความวุ่นวายอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เพื่อคอยควบคุมสถานการณ์ แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์สั่งการไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง และยังเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบอีก ทำให้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า "วีรบุรุษมัฆวานฯ"[

คนที่ 12 สัญญา ธรรมศักดิ์

ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ (5 เมษายน พ.ศ. 2450 — 6 มกราคม พ.ศ. 2545) เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา, คณบดีคณะนิติศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ, ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี ถึงแก่อสัญกรรม ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2545 สิริอายุได้ 94 ปี
ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 19.00 น. ในเหตุการณ์ 14 ตุลา หลังจากถวายบังคมลาออกของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองคมนตรีอยู่ หลังจากได้มีประกาศแต่งตั้งไป กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้โห่ร้องด้วยความดีใจ แต่บางส่วนก็ยังไม่ปักใจเชื่อ และการปะทะกันก็ยังต่อเนื่องอยู่ ในเวลา 23.15 น. ท่านได้กล่าวคำปราศรัยจากหอพระสมุด ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า
พี่น้องชาวไทย นิสิต นักศึกษาและประชาชนชาวไทยที่รักทั้งหลาย ด้วยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ในวันนี้ให้ข้าพเจ้าเข้ารับภาระหน้าที่อันหนัก เป็นนายกรัฐมนตรีแม้จะเป็นระยะเวลาที่ยากลำบากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ดี ข้าพเจ้าก็รับพระบารมีใส่เกล้า ฯ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและจะทำงานโดยเต็มสติกำลังความสามารถ ในชั้นแรกและที่เป็นการด่วนอย่างยิ่งในวันนี้ก็คือข้าพเจ้าขอร้องให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย ทั้งที่เป็นทหารตำรวจ นิสิต นักศึกษา และประชาชนขอให้รักษาความสงบเรียบร้อยโดยพลัน ทั้งนี้เพื่อประชาชนและเพื่อชาติศาสนาพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของเรา ข้าพเจ้าขอสัญญาว่าจะให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ และข้าพเจ้าคาดคิดว่าไม่ควรจะเกิน 6 เดือน นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะเชื้อเชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิมีคุณธรรมความสามารถความซื่อสัตย์สุจริตประกอบเข้าเป็นคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้ ขอให้ท่านข้าราชการประจำทุกท่าน ไม่ว่าในตำแหน่งใดได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ท่านมีอยู่ในปัจจุบันต่อไปตามเดิมทุกประการ

จากนั้นในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 16.00 น. ท่านได้นำคณะรัฐมนตรี เข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ประกอบด้วยบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประกอบ หุตะสิงห์ เป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้ถูกสื่อมวลชนตั้งฉายาให้ว่า "รัฐบาลท่านพระครู" เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลที่ธรรมะธรรมโม และแม้ได้เข้ามาบริหารราชการแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ในประเทศยังคงระอุอยู่ เพราะเหตุความวุ่นวายต่าง ๆ และรัฐบาลเสนอกฎหมายผ่านสภาถึง 3 ฉบับ แต่ไม่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงได้รับฉายาใหม่ว่า "รัฐบาลมะเขือเผา" จนในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 ท่านได้ทำหนังสือลาออกจากตำแหน่ง แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานสภานิติบัญญัติ เห็นชอบให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีตามเดิมในวันที่ 28 พฤษภาคม จนกระทั่งมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจากการเลือกตั้ง ท่านจึงได้พ้นวาระไปและได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประธานองคมนตรี

คนที่ 13 คึกฤทธิ์ ปราโมช

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (20 เมษายน พ.ศ. 2454 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2538) นักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ นับเป็นปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของไทย เป็นน้องชายแท้ ๆ ของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัย สื่อมวลชนจึงนิยมเรียกทั้งคู่ว่า "หม่อมพี่ หม่อมน้อง" นอกจากนี้ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ และ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ยังมีพี่สาวคือ หม่อมราชวงศ์บุญรับ พินิจชนคดี (สมรสกับ พลตำรวจเอกพระพินิจชนคดี หรือ พินิจ อินทรทูต)
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2551 กระทรวงวัฒนธรรมของไทย ได้เสนอชื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อองค์การยูเนสโก [1] โดยมีทั้งเสียงสนับสนุน[2][3][4]และคัดค้าน[5] ซึ่งต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ทางองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลก ใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พ.ศ. 2554 โดยได้รับการประกาศพร้อมกันกับครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งได้รับในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลพ.ศ. 2553
บทบาททางการเมือง
พ.ศ. 2488-2489 เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกในเมืองไทย ชื่อ "พรรคก้าวหน้า"
ได้ร่วมในคณะผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนแรก
ได้ริเริ่มจัดตั้งพรรคกิจสังคม
พ.ศ. 2516 เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและได้รับเลือกเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
พ.ศ. 2518 ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น และได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พ.ศ. 2519 ได้ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร บริหารประเทศประมาณ 9 เดือนเศษ

คนที่ 14 ธานินทร์ กรัยวิเชียร

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธานินทร์ กรัยวิเชียร (5 เมษายน พ.ศ. 2470 — ) องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 14 ของไทย
ธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของไทย[1] ภายหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยการนำของ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มีนโยบายโดดเด่นคือการต่อต้านภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังมีอิทธิพลอย่างสูงในขณะนั้น ภายหลังจากที่คณะปฏิวัติได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายธานินทร์ ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และได้ดำรงตำแหน่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ก่อนหน้านั้นเขาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516

คนที่ 15 เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (17 ธันวาคม พ.ศ. 2460 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2546) อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินภายใต้ การนำของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผลงานสำคัญในช่วงที่พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งคือการปรับปรุงสัมพันธภาพกับประเทศเพื่อนบ้านอันประกอบด้วย ประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า รวมทั้งพลเอก เกรียงศักดิ์ ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพโซเวียต เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ทำให้ไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับทั้งสองประเทศแน่นแฟ้นขึ้น
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งหน่วยงานสำคัญ ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายหน่วยงาน เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น
ระหว่างเล่นการเมืองอยู่นั้น พลเอก เกรียงศักดิ์ได้รับฉายาว่า "อินทรีแห่งทุ่งบางเขน"
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยแถลงกลางสภา ฯ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 อันมีสาเหตุเนื่องมาจากการที่รัฐบาลตัดสินใจเพิ่มราคาค่าน้ำมันตามราคาตลาดโลก ซึ่งทำให้หลายฝ่ายได้รับความเดือดร้อนและโจมตี หลังจากนั้นได้ยุติบทบาททางการเมือง โดยไม่ข้องเกี่ยวกับวงการเมืองอีก แต่อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์กบฏวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พลเอกเกรียงศักดิ์ถูกต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุนการกบฏดังกล่าว
พลเอกเกรียงศักดิ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2546 รวมอายุได้ 86 ปี โดยในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ภาพที่ติดตาของพลเอกเกรียงศักดิ์ คือ การทำพะแนงเนื้อใส่บรั่นดีระหว่างออกเยี่ยมประชาชนตามที่ต่าง ๆ อันเป็นสูตรของพลเอกเกรียงศักดิ์เอง
นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่นักศึกษาที่ถูกจำคุกเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุม 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย ซึ่งรัฐสภาก็ได้ผ่านร่างดังกล่าวในปี พ.ศ. 2521 โดยมีเหตุผลสำคัญคือเพื่อความปรองดองของประเทศ ซึ่งทำให้นักศึกษาที่ถูกจับทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว
หลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2522 มีการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดร้อยเอ็ด เขตหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2524 ครั้งนี้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ฝ่ายพลเอกเกรียงศักดิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติประชาธิปไตย จึงต้องใช้การซื้อเสียงเชิงรุก เพื่อให้ได้ ส.ส. จึงใช้การแจกจ่ายเงินสดแทนข้าวของ ทำกันอย่างเอิกเกริกแต่ก็ไม่มีการลงโทษตามกฎหมาย จึงเป็นต้นกำเนิดของการซื้อเสียงอย่างแพร่หลายในภาคอีสานในเวลาต่อมา

คนที่ 16 เปรม ติณสูลานนท์


พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก เปรม ติณสูลานนท์ (26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 — ) ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย ระหว่างปี พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2531
บุคลิกส่วนตัวพลเอกเปรมเป็นคนพูดน้อย ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นเรียกขานว่า เตมีย์ใบ้ [1] และได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวายและกบฏ 9 กันยา[2] หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี
ในปี พ.ศ. 2502 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอกเปรมได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และวุฒิสมาชิก ช่วง พ.ศ. 2511 - 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร
พลเอกเปรมเข้าร่วมรัฐประหารในประเทศไทย 2 ครั้ง ซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ล้มรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ล้มรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร
พลเอกเปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
ในช่วงนั้น พลเอกเปรมได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกพลเอกเปรม โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจาก พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 ตลอดระยะเวลาที่บริหารประเทศได้มีผลงานสำคัญมากมาย เช่น การปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ การดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ภายในประเทศอย่างได้ผล โดยนำนโยบายการใช้ "การเมืองนำการทหาร" ตามคำสั่งนโยบายที่ 66/2523 เป็นผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังลงและสลายตัวไปในที่สุด

คนที่ 17 ชาติชาย ชุณหะวัณ



พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (5 เมษายน พ.ศ. 2463 — 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541) เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 17 และเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในหลายกระทรวงคือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงกลาโหม
พลเอกชาติชาย เป็นผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง 2 พรรค และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค คือ พรรคชาติไทย และ พรรคชาติพัฒนา
พลเอกชาติชาย มีส่วนร่วมในการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 และรัฐประหารในปี พ.ศ. 2494 ตามบิดา คือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ผู้เป็นหัวหน้าในการรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ โดยขณะมียศเพียงแค่ร้อยตรีและร้อยเอกเท่านั้น หลังจากนั้นเริ่มบทบาททางการเมืองอย่างแท้จริงในรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ด้วยตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 พลเอกชาติชาย ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา และได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องกันมาอีกรวม 5 สมัย พลเอกชาติชาย และได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีอีกหลายสมัย ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรองนายกรัฐมนตรี
โดยได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามลำดับดังนี้
พ.ศ. 2515 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ
พ.ศ. 2518 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ[9]
พ.ศ. 2518 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา รวม 5 สมัย
พ.ศ. 2519 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[10]
พ.ศ. 2529 รองนายกรัฐมนตรี
ในปี พ.ศ. 2517 พลเอกชาติชาย ได้ร่วมกับ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ผู้มีศักดิ์เป็นพี่เขย และ พลตรีศิริ สิริโยธิน ก่อตั้ง พรรคชาติไทย ขึ้น โดยมี พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้าพรรค และต่อมาในปี พ.ศ. 2529 พลเอกชาติชายขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 2 สามารถนำพรรคชาติไทย ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งในปี พ.ศ. 2531 ในชั้นต้นมีการทาบทาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเป็นสมัยที่ 4 แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ และประกาศวางมือทางการเมือง พลเอกชาติชายจึงได้รับการสนับสนุน ให้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 17 ของประเทศไทย
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 มีการปรับคณะรัฐมนตรี 1 ครั้งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ได้ดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นระยะเวลารวมประมาณ 2 ปีครึ่ง
ผลงานที่โดดเด่นมากของรัฐบาล พลเอกชาติชาย ได้แก่ การดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะใน กลุ่มอินโดจีน เช่น การประสานงานให้มีการเจรจาร่วม ระหว่างเขมร 4 ฝ่าย เพื่อยุติการสู้รบ และสนับสนุน ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลประเทศกัมพูชาภายใต้การนำของ สมเด็จสีหนุขึ้น นโยบายต่างประเทศของ รัฐบาลพลเอกชาติชาย มีชื่อเรียกที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ นโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า"
ทางด้านเศรษฐกิจ ได้อนุมัติโครงการเพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายโครงการ เช่น โครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 3 ล้านเลขหมาย โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในเขตกรุงเทพมหานคร และโครงการทางด่วนยกระดับ ตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงนั้น ร้อนแรงถึงกว่า 10 เปอร์เซนต์ต่อปี กระทั่งมีการคาดหมายโดยทั่วไปว่าประเทศไทยจะเป็น "เสือตัวที่ 5" ของเอเชีย (Fifth Asian Tiger) ต่อจาก "4 เสือเศรษฐกิจของเอเชีย" คือ เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีชื่อที่เรียกเป็นที่รู้จักทั่วไปว่า "น้าชาติ" มีคำพูดติดปากเมื่อให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า "No Problem" หมายถึง "ไม่มีปัญหา" จนเป็นที่จดจำได้ทั่วไป ซึ่งศิลปินเพลง แอ๊ด คาราบาว ได้นำไปประพันธ์เป็นเพลงล้อการเมืองชื่อ "โนพลอมแพลม"
การบริหารงานของรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เริ่มประสบปัญหาในช่วงท้ายของวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อถูกโจมตีว่ามีการทุจริต หาผลประโยชน์ในโครงการลงทุนของรัฐ จนมีคำกล่าวโจมตีการทำงานของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกชาติชายว่าเป็น "บุฟเฟ่ต์คาบิเนต" ขณะที่การทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีสัดส่วน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล เป็นจำนวนมากก็ถูกโจมตีว่ามีสภาพเป็น "เผด็จการรัฐสภา"
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ บริหารประเทศจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก็ถูกยึดอำนาจการปกครองโดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ. สุจินดา คราประยูร พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล และพล.อ. อิสระพงศ์ หนุนภักดี ที่ต่อมานำไปสู่เหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535

คนที่ 18 อานันท์ ปันยารชุน


อานันท์ ปันยารชุน (เกิด 9 สิงหาคม พ.ศ. 2475 — ) นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 18 และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ ประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศเยอรมนี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 และพฤษภาทมิฬ เขายังได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจ ประจำปี พ.ศ. 2540

อานันท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรกระหว่างวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2534 ถึง 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 จากการเสนอชื่อโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์เช่นกัน ทั้งเคยร่วมงานกับนายอานันท์ เมื่อ พ.ศ. 2514 ขณะพันโทสุจินดา (ยศขณะนั้น) เป็นรองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน และนายอานันท์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ผลจากการเลือกให้นายอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในตอนนั้นช่วยให้ท่านได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนแรกที่เกิดภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ภารกิจหลักของรัฐบาลนายอานันท์ในสมัยแรก คือ การร่างรัฐธรรมนูญ และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายอานันท์ ได้นำบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ และมีภาพพจน์ที่ดี มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เช่น นายนุกูล ประจวบเหมาะ นายเสนาะ อูนากูล นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
การบริหารประเทศของนายอานันท์ ได้ประกาศเน้นเรื่อง "ความโปร่งใส" นอกจากนั้นยังดำเนินนโยบายเป็นเอกเทศ ไม่ยอมอยู่ใต้คำสั่งของคณะรสช. ทำให้รัฐบาลได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชน และได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ จนได้รับฉายาว่า "รัฐบาลโปร่งใส" และตัวนายอานันท์เองได้รับฉายาว่า "ผู้ดีรัตนโกสินทร์"
นายอานันท์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคสามัคคีธรรมได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด จำนวน 79 คน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคกลับไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ หลังจากนางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ เป็นหนึ่งในบัญชีดำ ผู้ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับการค้ายาเสพติด
พรรคร่วมเสียงข้างมาก ซึ่งประกอบด้วยพรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร จึงสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พลเอกสุจินดาเคยประกาศว่า จะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกล่าวในเวลาต่อมาว่า จำเป็นต้อง "เสียสัตย์เพื่อชาติ"
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านอย่างรุนแรง มีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ท้องสนามหลวงเพิ่มขึ้นจนถึงห้าแสนคน จนนำมาสู่การใช้กำลังปะทะ และปราบปรามในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 หรือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรง พลเอกสุจินดาประกาศลาออกจากตำแหน่ง ฝ่ายพรรคร่วมเสียงข้างมาก ร่วมกันสนับสนุนให้ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่แล้วนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ได้ตัดสินใจเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ แทนที่จะเป็นพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์
นายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐมนตรีส่วนใหญ่ เป็นรัฐมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยแรก
นายอานันท์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2535 ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด และนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 20
พ.ศ. 2551 อานันท์ได้รับการติดต่อจาก พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี ให้เข้าร่วมแผนการณ์ล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่อยู่ระหว่างรอเสนอต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และให้อานันท์ ปันยารชุนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

คนที่ 19 สุจินดา คราประยูร

พลเอก สุจินดา คราประยูร (เกิด 6 สิงหาคม พ.ศ. 2476) เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
พลเอก สุจินดา เป็นบุคคลสำคัญในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนกระทั่งหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคการเมือง 5 พรรค คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี[1] ก่อนหน้านั้น พรรคร่วม 5 พรรคประกาศสนับสนุนณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด แต่โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาแถลงข่าวว่า ณรงค์ วงศ์วรรณ ติดบัญชีดำ ถูกห้ามเข้าสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด
พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้รับพระบรมราชโองการให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งกล่าวว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ทั้งที่เคยพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ พลเอก สุจินดา ได้แต่งตั้ง พลเอก อิสรพงศ์ หนุนภักดี เลขาธิการ รสช. ซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยาตน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงถูกคัดค้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม ร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วง และพลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้พลเอกสุจินดาลาออก เนื่องจากเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ รสช. จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ หรือพฤษภาทมิฬ ขึ้นระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึง 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลเอก สุจินดา จึงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยอิสระและเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง
มีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 10 มิถุนายน 2535 คณะรัฐมนตรีคณะที่ 48 ของรัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร จึงพ้นจากตำแหน่งไปตามวาระ

คนที่ 20 ชวน หลีกภัย


ชวน หลีกภัย (28 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 — ) นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนที่ 20 เป็นนายกรัฐมนตรีสองสมัยใน คณะรัฐมนตรีคณะที่ 50 และ คณะรัฐมนตรีคณะที่ 53 ปัจจุบันเป็นประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์
วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2535 ถึง 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538
ชวน หลีกภัย ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก ดำรงตำแหน่งระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 20 สิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยการยุบสภา
วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
ชวน หลีกภัย ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สอง โดยรับช่วงต่อหลังจาก พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากเกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักจนต้องลอยตัวค่าเงินบาท กองทัพไม่ได้ต่อต้านการคืนสู่ตำแหน่งของเขา ชวนได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือจนได้รับความเชื่อถือและเห็นชอบจากสถาบันการเงินนานาชาติและสหรัฐอเมริกา มุ่งไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งรัฐบาลผสมก็เอาชนะความพยายามของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้ชวนจะไม่ใช่นักการเมืองที่น่าดึงดูดใจ แต่ก็ได้รับการสนับสนุนและไว้วางใจ เพราะถูกมองว่าซื่อสัตย์ มุ่งปฏิรูประบอบประชาธิปไตยและขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง [4]
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สอง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย[ต้องการอ้างอิง] เนื่องจากรัฐบาลจัดตั้งขึ้น โดยกลุ่มของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเดิมสนับสนุนให้ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดยการสนับสนุนของพรรคความหวังใหม่ (125 คน) พรรคชาติพัฒนา (52 คน) พรรคประชากรไทย (18 คน) และ พรรคมวลชน (2 คน) รวม 197 เสียง ส่วนฝ่ายค้านเดิมนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ (123 คน) ร่วมกับพรรคชาติไทย (39 คน) พรรคเอกภาพ (8 คน) พรรคพลังธรรม (1 คน) พรรคไท (1 คน) และพรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้แก่พรรคกิจสังคม (20 คน) และพรรคเสรีธรรม (4 คน) สนับสนุนนายชวน หลีกภัย ด้วยเสียงทั้งสิ้นรวม 196 เสียง ซึ่งน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล 1 เสียง
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายชวน หลีกภัย ก่อให้เกิดกลุ่มการเมือง ที่ถูกตั้งชื่อว่า กลุ่มงูเห่า ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยจำนวน 12 คนที่เข้าร่วมสนับสนุนรัฐบาล โดยคำชวนของ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ จนกระทั่งถูกพรรคประชากรไทยมีมติขับไล่ ทั้ง 12 ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และส่งผลให้สิ้นสุดสถานภาพ ส.ส.ตามกฎหมาย กลุ่มงูเห่าทั้ง 12 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบ ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ ส.ส.ทั้ง 12 คน ยังคงสถานภาพ และหาพรรคใหม่สังกัด
นอกจากกรณีกลุ่มงูเห่าแล้ว ยังมีกรณีรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลที่ได้รับการตัดสินว่ามีความผิดทางการเมืองอีก 2 ท่าน ได้แก่ นายรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยนายรักเกียรติ สุขธนะ (พรรคชาติไทย) ได้รับคำพิพากษาตัดสินจาก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้จำคุกเป็นเวลา 5 ปี ฐานเรียกรับสินบนบริษัทยา ทีเอ็น พี เฮลท์ แคร์ จำกัด ซึ่งนับว่าเป็นรัฐบาลชุดแรกที่รัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ได้รับโทษถึงที่สุดให้จำคุกจากการทุจริตในระหว่างการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะร้ฐบาล
นอกจากนี้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของรัฐบาลนายชวน หลีกภัยและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้รับคำพิพากษาจากศาลรัฐธรรมนูญ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากการรายงานบัญชีทรัพย์สินตกหล่น
การจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่สองของนายชวนนี้ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชนชั้นกลางใน กทม. เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลนายชวน หลีกภัย จะสามารถฉุดประเทศไทยออกจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มขึ้นในรัฐบาลของ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ แต่การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนายชวน หลีกภัยไม่บรรลุผลไม่สามารถดึงเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะการตกต่ำได้ทันใจ ความต้องการของประชาชน ทำได้แค่นำคนไข้ออกจากห้องฉุกเฉิน เข้าพักฟื้นในห้องคนป่วยปกติ แม้ว่าจะได้ดำเนินการมากว่า 3 ปี นอกจากนี้ นโยบายพรรคไทยรักไทย ยังเป็นที่ดึงดูดใจของประชาชน เช่น ปลดหนึ้เกษตรกร หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และ สามสิบบาทรักษาทุกโรค ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งถัดมาในปี พ.ศ. 2544 ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์การพ่ายแพ้ต่อพรรคไทยรักไทย และนายชวน ต้องกลับมาเป็นฝ่ายค้าน

คนที่ 21 บรรหาร ศิลปอาชา

นายบรรหาร ศิลปอาชา เกิดวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2475 (บางแหล่งกล่าวว่าแท้จริงแล้วเกิดวันที่ 19 กรกฎาคม ปีเดียวกัน  แต่ที่ปรากฏตามทะเบียนราษฎร์คือวันที่ 19 สิงหาคม[2]) ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของนายเซ่งกิม และนางสายเอ็ง แซ่เบ๊ เดิมมีชื่อว่า นายเต็กเซียง แซ่เบ๊ (马德祥)
สมรสกับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา มีบุตร-ธิดารวม 3 คน เป็นชาย 1 คน คือ นายวราวุธ ศิลปอาชา (สมรสกับ เก๋-สุวรรณา ไรวินท์ ทายาทตระกูลไรวินท์ เจ้าของธุรกิจ ซุปไก่ก้อนรีวอง) และเป็นหญิง 2 คน คือ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา และ น.ส.ปาริชาติ ศิลปอาชา
นายบรรหารจบการศึกษาชั้นประถมที่จังหวัดสุพรรณบุรี เข้ากรุงเทพมาเรียนหนังสือชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัย แต่ต้องหยุดเรียนไป เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง หันไปทำงานกับพี่ชาย และก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นของตัวเอง เป็นตัวแทนจำหน่ายคลอรีนให้กับการประปาส่วนภูมิภาค จนมีฐานะร่ำรวย
ต่อมาเมื่อนายบรรหารเป็นนักการเมืองแล้ว จึงเริ่มเรียนหนังสือต่อจนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 2529 และศึกษาต่อปริญญาโทนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 นายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นายบรรหาร ได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย พร้อมควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งหนึ่งระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
รัฐบาลนายบรรหาร มีผลงานที่โดดเด่นคือ การเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ. 2540 ฉบับที่ 16
การบริหารราชการแผ่นดินในดำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขา ดำเนินไปด้วยความไม่ราบรื่น จนกระทั่งในวันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ. 2539 เขาถูกพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจโจมตีว่าการบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ได้ขอให้เขาลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาได้ตัดสินใจยุบสภา เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 แทน[6]
นายบรรหารมีสมญานามมากมาย จากลักษณะเด่นหลายประการ เช่น มีฐานเสียงหนาแน่นอย่างที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี มีสถานะเป็นเจ้าถิ่นจนได้สมญาว่า "มังกรสุพรรณ" หรือ "มังกรการเมือง" และเนื่องจากมีลักษณะคล้าย เติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีน สื่อมวลชนจึงนิยมเรียกนายบรรหารสั้น ๆ ว่า "เติ้ง" หรือ "เติ้งเสี่ยวหาร" และ"ปลาไหล" เนื่องจากเป็นคนกลับกลอกไปมาไม่แน่นอน

คนที่ 22 ชวลิต ยงใจยุทธ


พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ (15 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 — ) เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย คนที่ 22 ของไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม อดีตผู้บัญชาการทหารบกและอดีดรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด
เป็นเจ้าของสมญา "ขงเบ้งแห่งกองทัพบก" เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สมาชิกวุฒิสภา ขณะดำรงตำแหน่งทางทหาร เป็นผู้ก่อตั้ง และหัวหน้า พรรคความหวังใหม่ คนแรก และเป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย มีคะแนนเสียงหนาแน่นในจังหวัดนครพนม
สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป เรียก พล.อ.ชวลิต ว่า "บิ๊กจิ๋ว" และในพื้นที่ภาคอีสาน เรียก พล.อ.ชวลิต ว่า "พ่อใหญ่จิ๋ว" นอกจากนี้แล้วยังมีอีกฉายาหนึ่งว่า "จิ๋วหวานเจี๊ยบ" จากการมีบุคคลิกพูดจาอ่อนนิ่ม นุ่มนวล
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วเข้าสู่การเมือง ก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 พล.อ.ชวลิต เป็นหนึ่งในผู้ที่ปราศรัยขับไล่ พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่สนามหลวง เป็นคนแรกด้วย การเมืองหลังจากนั้น พรรคความหวังใหม่กลายเป็นพรรคที่มีผู้สนับสนุนมากที่สุดในภาคอีสาน ก่อนที่จะย้ายพรรคมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2544 และ พลเอก ดร.ชวลิต ก็รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรสมัยแรกด้วย
หลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 พล.อ.ชวลิต พยายามจะเป็นผู้เสนอตัวไกล่เกลี่ยทำความเข้าใจระหว่างกลุ่มผู้ที่ขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ และกลุ่มผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ "สมานฉันท์" กัน โดยเรียกบทบาทตัวเองว่า "โซ่ข้อกลาง" รวมทั้งมีการข่าวว่าอาจจะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน แต่แล้วตำแหน่งนี้ในที่สุดก็ตกเป็นของ นายสมัคร สุนทรเวช
ในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิตได้เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เจรจากับฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยเฉพาะ แต่หลังจากรับตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน ก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่หน้าอาคารรัฐสภา พล.อ.ชวลิตก็ขอลาออกทันที
ในกลางปี พ.ศ. 2552 หลังจากถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในกรณีเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม แล้วนั้น พล.อ.ชวลิตก็ได้สมัครเข้าสู่พรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่าต้องการเข้ามาเพื่อสมานฉันท์ โดยไม่ต้องการเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร[6] และหลังจากนั้นทางพรรคเพื่อไทยก็ได้มีมติให้ พล.อ.ชวลิตดำรงตำแหน่งประธานพรรค

คนที่ 23 ทักษิณ ชินวัตร


พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร (อักษรโรมัน: Thaksin Shinawatra; จีน: 丘達新; พินอิน: Qiū Dáxīn; เกิด: 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492) เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2544– จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2549 หลังการรัฐประหาร เป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย
พ.ศ. 2537 พันตำรวจโท ทักษิณ เข้าสู่วงการเมือง สังกัดพรรคพลังธรรม โดยการชักนำของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ต่อมาจึงก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ใน พ.ศ. 2541 และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 ซึ่งพรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก สำหรับงานการเมือง พันตำรวจโท ทักษิณ ใช้หนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ก่อนกำหนดเดิม[9] และดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดความยากจนในชนบท โดยสามารถลดความยากจนได้ถึงครึ่งหนึ่งภายในสี่ปี[10][11] ริเริ่มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นครั้งแรกของประเทศ คือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค[12] ตลอดจนการกวาดล้างยาเสพติด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง[13] พันตำรวจโท ทักษิณ เริ่มดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ รวมทั้งถนน การขนส่งมวลชน และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หนี้สาธารณะลดลงจากร้อยละ 57 ของจีดีพี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 เหลือร้อยละ 41 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549[14][15] รวมทั้งระดับการฉ้อราษฎร์บังหลวงลดลง โดยดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เพิ่มขึ้นจาก 3.2 เป็น 3.8 ระหว่าง พ.ศ. 2544 และ 2549[16] พันตำรวจโท ทักษิณ ดำรงตำแหน่งจนครบวาระสี่ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งดำรงตำแหน่งจนครบวาระเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ และจากผลการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 ทำให้พันตำรวจโท ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
 และวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะทหารซึ่งภายหลังเรียกตนเองว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ ขณะที่พันตำรวจโท ทักษิณอยู่ต่างประเทศ