วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คนที่ 15 เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (17 ธันวาคม พ.ศ. 2460 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2546) อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินภายใต้ การนำของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผลงานสำคัญในช่วงที่พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งคือการปรับปรุงสัมพันธภาพกับประเทศเพื่อนบ้านอันประกอบด้วย ประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า รวมทั้งพลเอก เกรียงศักดิ์ ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพโซเวียต เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ทำให้ไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับทั้งสองประเทศแน่นแฟ้นขึ้น
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งหน่วยงานสำคัญ ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายหน่วยงาน เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น
ระหว่างเล่นการเมืองอยู่นั้น พลเอก เกรียงศักดิ์ได้รับฉายาว่า "อินทรีแห่งทุ่งบางเขน"
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยแถลงกลางสภา ฯ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 อันมีสาเหตุเนื่องมาจากการที่รัฐบาลตัดสินใจเพิ่มราคาค่าน้ำมันตามราคาตลาดโลก ซึ่งทำให้หลายฝ่ายได้รับความเดือดร้อนและโจมตี หลังจากนั้นได้ยุติบทบาททางการเมือง โดยไม่ข้องเกี่ยวกับวงการเมืองอีก แต่อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์กบฏวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พลเอกเกรียงศักดิ์ถูกต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุนการกบฏดังกล่าว
พลเอกเกรียงศักดิ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2546 รวมอายุได้ 86 ปี โดยในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ภาพที่ติดตาของพลเอกเกรียงศักดิ์ คือ การทำพะแนงเนื้อใส่บรั่นดีระหว่างออกเยี่ยมประชาชนตามที่ต่าง ๆ อันเป็นสูตรของพลเอกเกรียงศักดิ์เอง
นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่นักศึกษาที่ถูกจำคุกเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุม 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย ซึ่งรัฐสภาก็ได้ผ่านร่างดังกล่าวในปี พ.ศ. 2521 โดยมีเหตุผลสำคัญคือเพื่อความปรองดองของประเทศ ซึ่งทำให้นักศึกษาที่ถูกจับทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว
หลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2522 มีการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดร้อยเอ็ด เขตหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2524 ครั้งนี้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ฝ่ายพลเอกเกรียงศักดิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติประชาธิปไตย จึงต้องใช้การซื้อเสียงเชิงรุก เพื่อให้ได้ ส.ส. จึงใช้การแจกจ่ายเงินสดแทนข้าวของ ทำกันอย่างเอิกเกริกแต่ก็ไม่มีการลงโทษตามกฎหมาย จึงเป็นต้นกำเนิดของการซื้อเสียงอย่างแพร่หลายในภาคอีสานในเวลาต่อมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น