วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คนที่ 4 ควง อภัยวงศ์


พันตรี ควง อภัยวงศ์ หรือที่นิยมเรียกว่า นายควง อภัยวงศ์ (17 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2511) อดีตนายกรัฐมนตรีไทย 4 สมัย ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี พ.ศ. 2475 เคยมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงโกวิทอภัยวงศ์
พ.ต.ควง ถือเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งกระทรวงคมนาคมยุคใหม่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการคนแรก ด้วยประสบการณ์ที่เคยรับราชการจนมีตำแหน่ง เป็นถึง อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข นอกจากนี้ยังเคย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงเกษตราธิการ และกระทรวงมหาดไทย อีกด้วp
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 11 ของไทย , 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488)
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 พร้อมกับการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีคณะที่ 11 ของไทย ภายหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่ง การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นไปโดยสถานการณ์บังคับ จากการได้รับเลือกโดยสภาฯ ในขณะที่ไม่มีผู้อื่นยินดีรับตำแหน่ง เนื่องจากเกรงจะถูกรัฐประหารโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งนั้นได้ปรึกษากับอธิบดีกรมตำรวจ และตัดสินใจเดินทางไปอธิบายกับ จอมพล ป. ถึงค่ายทหารที่จังหวัดลพบุรีจนเป็นที่เข้าใจและยอมรับของจอมพล ป. ที่จะสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ พร้อมกับการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กระทรวงคมนาคม อีกด้วย
รัฐบาลของ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ได้ประกาศสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 หลังจาก ประเทศญี่ปุ่น ประกาศยอมแพ้สงครามแล้ว 2 วัน โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ ลงนามในฐานะ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระบุให้ การประกาศสงครามต่อ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ของจอมพล ป. เป็นโมฆะ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในวันรุ่งขึ้น ด้วยเหตุผล เพื่อให้เป็นไปตามประเพณีนิยมแห่งวิถีการเมือง และเปิดโอกาสให้ผู้มีความเหมาะสม ในอันที่จะยังมิตรภาพ และดำเนินการเจรจา ทำความเข้าใจอันดีกับฝ่ายพันธมิตร ได้เข้าบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป
หลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งมี นายทวี บุณยเกตุ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณ 17 วัน และผู้มารับช่วงต่อคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน หัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เดินทางกลับมารับช่วงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 และดำเนินการเจรจา กับประเทศอังกฤษ ในขณะที่ นายปรีดี พนมยงค์ ประสานขอความสนับสนุน จากประเทศจีน ให้ช่วยรับรอง จนประเทศไทย สามารถพ้นจากสถานะ ประเทศผู้แพ้สงครามในที่สุด
ในระหว่างที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ได้รับมอบหมายจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งข้าวให้อังกฤษ ซึ่งได้ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ไม่มีการคอร์รัปชั่น จนทางอังกฤษเอ่ยชมเชย
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 14 ของไทย, 31 มกราคม พ.ศ. 2489 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2489)
หลังจากเจรจากับอังกฤษจนสำเร็จ และประเทศไทยพ้นสถานะประเทศผู้แพ้สงครามแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะสมาชิกสภาชุดที่ถูกยุบนั้นได้รับเลือกตั้งมา ตั้งแต่ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 แต่เมื่อหมดวาระ 4 ปียังไม่ได้เลือกตั้งใหม่ เพราะติดช่วงสงครามโลก
การเลือกตั้งมีขึ้นวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 พ.ต.ควงได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีคณะที่ 14 ของไทย มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่หลังจากตั้งรัฐบาลได้เพียง 2 เดือน สภาฯ ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน (พ.ร.บ.ปักป้ายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ "พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว") ที่เสนอโดย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี (ผู้ใกล้ชิด นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เขตอุบลราชธานี) ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐบาล พ.ต.ควง ไม่เห็นด้วยในหลักการ เนื่องจากไม่มีมาตรการ ในการควบคุมราคา คณะรัฐมนตรีได้แถลงให้สภาทราบแล้วว่า คณะรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติตาม ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้ และเกรงจะเป็นการเดือดร้อน แก่ประชาชนทั่วไป แต่สภาฯได้ลงมติรับหลักการ ด้วยคะแนน 65 ต่อ 63 เสียง รัฐมนตรีทั้งคณะจึงได้กราบถวายบังคม ลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2489 โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการสนับสนุนจากสภา ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และต่อมาได้ควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
การก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ (6 เมษายน พ.ศ. 2489)
หลังจากพ้นวาระในสมัยนี้แล้ว พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ได้ร่วมกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมทั้งนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง เช่น นายใหญ่ ศวิตชาต, นายเลียง ไชยกาล, ดร.โชติ คุ้มพันธ์, พระยาศราภัยพิพัฒ, นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ และ นายฟอง สิทธิธรรม ก่อตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 โดย พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรคคนแรก มี ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นรองหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค และมี นายชวลิต อภัยวงศ์ ผู้มีศักดิ์เป็นน้องชาย เป็น รองเลขาธิการพรรค มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพรรคฝ่ายค้านคานอำนาจรัฐบาลของนายปรีดี ที่ขณะนั้นมีอำนาจอย่างสูง ที่เข้ามาแทนที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 19 ของไทย, 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491)
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ รับดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 พร้อมทั้งรับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ หลังการรัฐประหาร เพื่อจัดการเลือกตั้ง วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2491 นับเป็น คณะรัฐมนตรีคณะที่ 19 มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรี หลังจัดการเลือกตั้งแล้วจึงพ้นวาระไป
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 20 ของไทย, 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 - 8 เมษายน พ.ศ. 2491)
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ กลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อเป็นสมัยที่ 4 เนื่องจากผลการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงข้างมาก พ.ต.ควง ในฐานะหัวหน้าพรรค จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องอีกสมัย พร้อมทั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นับเป็น คณะรัฐมนตรีคณะที่ 20 มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นายชวลิต อภัยวงศ์ เป็น รัฐมนตรี แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 กลุ่มนายทหารชุดเดียวกับคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ก็บีบบังคับให้ลาออก และ สภาฯ มีมติให้ท่าน พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 เรียกการปฏิวัติครั้งนี้ว่า "ปฏิวัติเงียบ" หลังการรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับเข้า ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่ง
ชีวิตหลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (8 เมษายน พ.ศ. 2491 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2511)
หลังจากนั้น พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ยังคงอยู่ในแวดวงการเมือง ด้วยการนำพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯ อย่างแข็งขัน ในรัฐบาลหลายชุด ทั้ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยสุดท้าย, รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร
จนกระทั่งเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น และใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 แทน ซึ่งมีบทบัญญัติให้ยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมือง เป็นต้น ทำให้บทบาททางการเมืองของ พ.ต.ควงต้องยุติไปโดยปริยาย ซึ่งเขาได้รอคอยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้น และตั้งความหวังไว้ว่าจะลงเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง แต่ได้อสัญกรรมลงเสียก่อน
เสียชีวิต
พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคระบบทางเดินหายใจขัดข้อง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2511 ขณะอายุได้ 66 ปี โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
หลังการถึงแก่อสัญกรรม พรรคประชาธิปัตย์ได้ก่อตั้ง มูลนิธิควง อภัยวงศ์ ขึ้น ตามเจตนารมณ์ และให้ชื่ออาคารที่ทำการของพรรคหลังแรกว่า "อาคารควง อภัยวงศ์" เพื่อรำลึกถึงด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น